ม.หอการค้าฯ ชี้กินเจปีนี้ค่อนข้างคึกคัก เงินสะพัด 4.2 หมื่นล้านบาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนจำนวน 1,250 ตัวอย่าง ว่า คาดว่าเทศกาลกินเจในปี 2565 จะมีเงินสะพัด หรือมูลค่าการใช้จ่ายราว 42,235 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อน 5.2% ที่มีเงินสะพัดราว 40,147 ล้านบาท (ติดลบ 14.5%) โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 4,185.88 บาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว และเดินทางไปต่างจังหวัด)
ทั้งนี้ จากการสอบถามประชาชนว่า ในปี 65 จะกินเจในช่วงเทศกาลกินเจหรือไม่ พบว่า ประชาชน 66% ระบุว่า จะไม่กินเจ สาเหตุหลัก คือ อาหารเจแพง เศรษฐกิจไม่ดี และรสชาติไม่อร่อย ขณะที่ประชาชนอีก 34% ระบุว่า กินเจ เพราะตั้งใจทำบุญ ชอบอาหารเจ และกินตามคนที่บ้าน หรือคนรอบข้าง
ส่วนพฤติกรรมการกินเจในครั้งนี้ ประชาชน 81.2% ระบุว่า จะกินตลอดช่วงเทศกาล ขณะที่ประชาชนอีก 18.8% ระบุว่า จะกินเจเฉพาะบางมื้อ โดยช่องทางในการเลือกซื้ออาหารเจ ส่วนใหญ่ตอบว่าเป็นการซื้อด้วยตนเอง 91.8%
“มูลค่าการใช้จ่ายปีนี้เพิ่มขึ้น มาจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งมูลค่าการจับจ่ายใช้สอยยังคงอยู่ในระดับต่ำ ไม่กลับมาอยู่ในระดับปกติ หรือเท่ากับมูลค่าในปี 58 ที่ 42,209 ล้านบาท หรือเรียกว่ายังไม่คึกคักในรอบ 7 ปี สรุปคือ กินเจปีนี้ค่อนข้างคึกคัก คนพร้อมจับจ่ายใช้สอยในสัดส่วนที่มากขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบอ่อนๆ จะเห็นได้จากพฤติกรรมการกินเจปีนี้ คนเริ่มกลับมากินเจตลอดเทศกาลมากขึ้น หรือ 81.2% จากปีก่อนที่ 62.9% ซึ่งถือว่าปีนี้สูงสุดในรอบ 4 ปี” นายธนวรรธน์ กล่าว
สำหรับราคาวัตถุดิบ ประชาชน 62.2% มองว่าราคาจะแพงกว่าปีที่แล้ว ในขณะที่อีก 37.8% มองว่าราคาจะเท่ากับปีที่แล้ว นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 81% ระบุว่า ไม่ได้เดินทางไปทำบุญตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ขณะที่อีก 19% ระบุว่า จะเดินทางไปทำบุญ
ในส่วนของค่าใช้จ่ายโดยรวม พบว่า 55.1% ตอบว่า ปริมาณของกินของใช้สำหรับกินเจมีปริมาณเท่าเดิม และ 33.7% ระบุว่ามีปริมาณลดลง ส่วนมูลค่าที่ใช้ในการกินเจ ประชาชน 53.9% ตอบว่า มีเพิ่มขึ้น
“ประชาชนมองว่าสินค้ามีราคาแพงขึ้น จึงเตรียมเงินเพื่อใช้จ่ายในปริมาณที่มากขึ้น แต่ปริมาณของกินของใช้เท่าเดิมถึงลดน้อยลง ค่าใช้จ่ายจะบริโภคเพิ่มไม่มาก แต่เตรียมเงินไว้พอสมควร ดังนั้น มองว่าประชาชนมีกำลังจ่าย แต่ยังคงใช้อย่างระมัดระวัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้น” นายธนวรรธน์ กล่าว
จากการสอบถามเรื่องความคึกคักของเทศกาลกินเจ คาดว่า ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน 53.5% ในขณะที่ 26.2% มองว่าจะลดลงจากปีก่อน เนื่องจากปัญหาค่าครองชีพสูง เศรษฐกิจไม่ดี และรายได้ลด สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้จ่ายช่วงกินเจ 56.9% มาจากรายได้ประจำ และ 39.7% มาจากเงินช่วยเหลือของรัฐ (ปี 64 ที่ 0.4%)
ส่วนการสำรวจความเห็นทั่วไป เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต พบว่า ประชาชน 92.8% มองว่า ค่าครองชีพในปัจจุบันไม่เหมาะสม และ 7.2% มองว่ามีความเหมาะสม ในส่วนของค่าใช้จ่ายที่ได้รับผลกระทบ เรื่องค่ารถสาธารณะ ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง ค่าน้ำมัน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบมาก ส่วนค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภค และค่าเช่าบ้านหรือค่าผ่อนบ้าน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเมื่อสอบถามถึงการแก้ไข ประชาชนตอบว่า จะแก้ไขด้วยการลดการใช้จ่าย หรือประหยัด รองลงมาคือหารายได้เพิ่ม
สำหรับความเหมาะสมในการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ ในเรื่องการท่องเที่ยว 41.1% ระบุว่า มีความเหมาะสมปานกลาง, การซื้อจักรยานยนต์คันใหม่ 54.5% ระบุว่า มีความเหมาะสมน้อย, การซื้อรถยนต์คันใหม่ 43.7% ระบุว่า มีความเหมาะสมน้อย, การซื้อสินค้าคงทน โทรทัศน์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องซักผ้า 49.9% ระบุว่า มีความเหมาะสมมาก และการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 64.1% ระบุว่า มีความเหมาะสมมาก
“เรื่องการท่องเที่ยว 41.1% มองว่า มีความเหมาะสมปานกลาง และอีก 40.5% มองว่ามีความเหมาะสมน้อย ซึ่งสอดคล้องกับที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยระบุว่า การท่องเที่ยวของไทยพลาดเป้า เนื่องจากคนไทยมีการท่องเที่ยวและมีการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง” นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงสภาพเศรษฐกิจไทยในอนาคต พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 75.1% มองว่า ประเทศไทยจะฟื้นช่วงครึ่งปีหลัง 66 สอดคล้องกับที่หอการค้าไทยมองว่า ช่วงครึ่งหลังของปี 66 คนจะกลับมาจับจ่ายใช้สอยใกล้เคียงกับปกติ
“ภาพรวมมองว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่เป็นการฟื้นแบบอ่อนๆ แต่ยังไม่โดดเด่น เนื่องจากประชาชนยังไม่มั่นใจเศรษฐกิจในอนาคต และภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นมาจากการมองของภาคธุรกิจ และภาควิชาการ เป็นการฟื้นในรูป K-Shape คือธุรกิจที่เติบโตดีก็จะรับรู้การฟื้นตัวที่มากกว่า โดยเฉพาะธุรกิจที่ผูกพันกับการส่งออกและดิจิทัล การท่องเที่ยว สินค้าคงทนถาวรเช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และจักรยานยนต์ และบ้านแนวราบ ในส่วนของธุรกิจที่มองว่ายังไม่ฟื้นหรือ K ขาลง คือกลุ่มเกษตรกรและธุรกิจ SME” นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี หอการค้าไทย เชื่อว่าในไตรมาส 4/65 เศรษฐกิจจะฟื้น เนื่องจากการส่งออกยังดี, นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรป, เศรษฐกิจโลกยังไม่มีสัญญาณของการซึมตัว, ภาคการเกษตรมีเม็ดเงินหมุนเวียนมากขึ้น สินค้าเกษตรและปศุสัตว์ราคาดี และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มการหมุนเวียนของเม็ดเงิน ทั้งนี้ มีสัญญาณเริ่มต้นคือการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ
ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยที่กระตุ้นเศรษฐกิจจากมาตรการของรัฐ ทั้งโครงการคนละครึ่ง บัตรคนจน และการอุดหนุนราคาพลังงาน ที่น่าจะหนุนเศรษฐกิจในไตรมาส 4/65 จึงยังคงมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวอยู่ที่ 3.0-3.5%
สำหรับสิ่งที่ประชาชนต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ ได้แก่ ต้องการให้แก้ไขปัญหาค่าครองชีพ, ต้องการให้มีการเมืองมีเสถียรภาพ, ต้องการเงินช่วยเหลือ, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, ต้องการให้กระตุ้นการลงทุนของนักลงทุน, ต้องการให้ช่วยหางานสำหรับผู้ที่ตกงาน และกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด
นายธนวรรธน์ กล่าวถึงการที่เงินบาทอ่อนค่าแตะ 37.00 บาท/ดอลลาร์ เป็นเชิงจิตวิทยา ถือว่าเป็นการผ่านแนวต้านที่สำคัญ คือ คนมองว่าการที่เงินบาททะลุ 37.00 บาท/ดอลลาร์ บาทจะร่วงไปถึง 37.50-38.00 บาท/ดอลลาร์ โดยการที่ค่าเงินบาทอ่อนสามารถมองได้ 2 มุม คือ 1. ค่าเงินบาทเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ถ้าค่าเงินบาทแข็งค่าสะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณที่ดี มีความแข็งแกร่ง เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ และ 2. ค่าเงินบาทอ่อน ส่วนใหญ่จะตีความว่า ทิศทางในอนาคตของเศรษฐกิจมีความไม่เข้มแข็ง เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าในครั้งนี้ น่าจะมาจากเงินทุนไหลออก ทำให้มองว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ย 1% หรือ 0.75% และอนาคตจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของสหรัฐฯ สูงขึ้น ดังนั้น หากใครกู้เงินจากสหรัฐฯ มา ก็ต้องรีบคืนเงินกู้ ขณะเดียวกัน หากนำเงินไปฝากที่สหรัฐฯ ก็จะได้ดอกเบี้ยสูง
ทั้งนี้ เงินบาทจะอ่อนค่าไปมากกว่านี้หรือไม่นั้น ต้องรอดูว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยมากเท่าไร ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะเห็นภาพในไตรมาส 4/65
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยยังตรึงอยู่ เนื่องจาก ธปท.ส่งสัญญาณว่า ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่มีประมาณ 220,000 ล้านบาท เพียงพอในการจัดการระบบเศรษฐกิจ หรือส่งสัญญาณในการยับยั้งเงินบาทไม่ให้หลุด 37.50 บาท/ดอลลาร์
“พอเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางการฟื้นขึ้น และดอกเบี้ยไทยที่สูงขึ้น เชื่อว่าการแกว่งตัวของบาทในกรอบ 37.00-37.50 บาท/ดอลลาร์ น่าจะยังคงเกิดขึ้นในระยะสั้น ภายใน 1 เดือน แต่ถ้าหลังจากนั้น การส่งออกยังดีอยู่ การท่องเที่ยวกลับเข้ามา และธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มปรับดอกเบี้ยขึ้น และทำให้ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐฯ กับไทยไม่ต่างกันมาก เชื่อว่าเงินบาทน่าจะไม่หลุด 37.00 บาท/ดอลลาร์ ไปไกลนัก และอาจกลับเข้ามาที่กรอบ 36.50-37.00 บาท/ดอลลาร์ ได้ช่วงปลายไตรมาส 4/65” นายธนวรรธน์ กล่าว
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้น เงินบาทที่อ่อนค่ามีผลดีต่อการท่องเที่ยว และการส่งออก ดังนั้น จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจไทยจะได้แรงหนุนจากค่าเงินบาทอ่อน ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการส่งออก ขณะเดียวกัน การที่เงินบาทอ่อนค่า แม้จะมีผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบที่นำเข้า แต่มองว่าน่าจะมีการสต็อกวัตถุดิบไว้อย่างน้อยประมาณ 1 เดือน จึงทำให้ต้นทุนวัตถุดิบไม่ได้มีการปรับราคาขึ้นมาก และอาจจะมีการพูดคุยเจรจาเรื่องวัตถุดิบ
“สรุปไม่น่าจะมีผลกระทบรุนแรงในระยะสั้น ขณะเดียวกันราคาน้ำมันในตลาดโลกทรงตัวอ่อน ซึ่งการที่เงินบาทอ่อนไม่น่าจะผลักดันราคาน้ำมันในไทยให้แพงขึ้น ดังนั้น ไม่น่าจะมีผลกระทบเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจไทยมากนัก โดยรวมแล้วเงินบาทที่อ่อนมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี เมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น เงินบาทในช่วงประมาณสิ้นปี หรือปลายเดือน ธ.ค. 65 ควรกลับมาแกว่งที่ 36.50-37.00 บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้ ต้องดูทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดว่าจะขึ้นเท่าไร และจะมีแนวโน้มขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ ขณะนี้เป็นการผันผวนของค่าเงิน แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการและระบบเศรษฐกิจไทยน่าจะยังรับได้ เพราะการที่เงินบาทอ่อนค่าเร็ว ยังเป็นอานิสงส์เชิงบวกในการส่งออกและการท่องเที่ยว หรือโดยรวมไม่มีผลในเชิงลบมาก