เปิดสาเหตุที่ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณต่ำกว่าราคาทองคำแท่ง
ราคาทองรูปพรรณกับเรื่องคาใจเวลาขายทองคืนถึงได้ต่ำกว่าราคาทองคำแท่ง
ใครที่เคยเปลี่ยนทองรูปพรรณ หรือขายทองรูปพรรณคืนให้กับร้านทองน่าจะเคยเจอกับราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณที่ไม่ตรงกับที่ประกาศในเว็บไซต์ หรือตามที่ร้านทองเขียนไว้หน้าร้าน ซึ่งอันที่จริงแล้วการรับซื้อทองรูปพรรณนั้นมีหลักเกณฑ์ และรายละเอียดที่กำหนดไว้ดังนี้
เว็บไซต์ ausiris รายงานว่า เกณฑ์การคิดราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณมีอยู่ 2 เกณฑ์ คือเกณฑ์ของสมาคมค้าทองคำแห่งประเทศไทย(ราคาทองที่มักพบตามเว็บไซต์ต่างๆ ส่วนใหญ่จะใช้ข้อมูลนี้มาแสดง) และเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ซึ่งในทางปฏิบัติ ราคาที่ใช้รับซื้อคืนทองรูปพรรณกันจริงๆ ตามร้านทอง จะใช้เกณฑ์ของ สคบ.
เกณฑ์ของ สคบ. ที่ว่านี้ คือ ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ให้คิดหักลดจากราคารับซื้อคืนทองคำแท่งได้สูงสุดไม่เกิน 5% หากเป็นทองที่ซื้อไปจากร้านเดียวกันนั้นๆ
ตัวอย่างเช่น หากวันนี้ราคารับซื้อคืนทองคำแท่ง(ซึ่งราคาที่เขียนอยู่หน้าร้านทองจะเป็นราคาทองคำแท่ง) อยู่ที่บาทละ 20,000 บาท ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ อย่าง แหวนทอง หรือสร้อยคอทองคำ ก็จะอยู่ที่ประมาณ
20,000 – (20,000 x 5/100) = 19,000 บาท
จะเห็นได้ว่า ถ้าตอนที่เรานำทองไปขาย ราคารับซื้อคืนทองคำแท่งอยู่ที่ราวๆ 20,000 บาท ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณจะต่างกันอยู่ประมาณ 1,000 บาทต่อทอง 1 บาท (5% ของ 20,000 คือ 1,000)
สาเหตุที่ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณต่ำกว่าราคารับซื้อคืนทองคำแท่งก็เนื่องมาจาก บนชิ้นงานทองรูปพรรณมีน้ำประสานทองที่ใช้ในกระบวนการผลิตทองรูปพรรณปนอยู่ด้วย ไม่ได้มีแต่เนื้อทองล้วนๆ แต่นขณะที่ทองคำแท่ง น้ำหนักที่ชั่งได้คือน้ำหนักของเนื้อทองล้วนๆ นั่นเอง
จะเห็นได้ว่าราคาที่ใช้ซื้อขายทองรูปพรรณกันจริงๆ นั้น จะไม่ตรงกับในเว็บไซต์ต่างๆ หรือที่เขียนไว้หน้าร้านทองแน่นอน เพราะอ้างอิงราคามาจากคนละเกณฑ์และคนละชนิดทองกัน
ราคาทองที่ประกาศออกมาตามเว็บไซต์ต่างๆ เป็นราคาอ้างอิงของราคาทองคำที่ยังไม่ได้คิดต้นทุนอื่นๆ ในกิจการร้านทอง เช่น ค่าประกัน ค่าขนส่ง ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่า และอื่นๆ เข้าไปด้วย ซึ่ง สคบ. ก็ได้กำหนดเกณฑ์ 5% นี้มาให้เป็นมาตรฐานปฏิบัติของร้านทองทั่วไป