อัตราดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร หากปรับขึ้น-ลง มีผลอย่างไร

อัตราดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร หากปรับขึ้น-ลง มีผลอย่างไร

อัตราดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร หากปรับขึ้น-ลง มีผลอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทำความรู้จักอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กำหนดโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ หากมีการปรับขึ้น หรือลงจะมีผลกระทบอย่างไรกับประชาชนและเศรษฐกิจบ้าง

เชื่อว่าหลายๆ คนอาจคุ้นเคยกับคำว่า "อัตราดอกเบี้ยนโยบาย" กันบ้าง ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผลต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก แต่รู้หรือไม่ว่าการปรับขึ้น หรือลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กำหนดโดยธนาคารกลางในแต่ละประเทศจะมีผลอย่างไรกับประชาชน และเศรษฐกิจในบ้านเราบ้าง Sanook Money มีข้อมูลดีๆ จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาฝากกัน

อัตราดอกเบี้ยคืออะไร?

ดอกเบี้ย คือ สิ่งที่ผู้กู้ต้องจ่ายเมื่อกู้เงิน หรือเป็นสิ่งที่ผู้ฝากได้รับเมื่อฝากเงิน

  • อัตราดอกเบี้ย คิดเป็นร้อยละของมูลค่าเงินต้นที่เรากู้หรือฝากในระยะเวลา 1 ปี เช่น ถ้าเราฝากเงิน 100 บาท ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ให้อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปีเมื่อผ่านไป 1 ปี เราจะมีเงินเพิ่มเป็น 101 บาท

อัตราดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร?

อัตราดอกเบี้ยนโยบายกำหนดโดยธนาคารกลาง เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญที่สุดที่จะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจ

อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอัตราที่ธนาคารกลางจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เอาเงินมาฝาก หรือเป็นอัตราที่ธนาคารกลางเก็บดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโบบายจะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้าที่เป็นผู้กู้ หรือผู้ฝากเงินต่อไป

ธปท. กำหนดให้ "อัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคีระยะ 1 วัน" เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

อัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากอย่างไร?

เมื่อ ธปท. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ตาม เมื่อ ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ตามเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์อาจปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ไม่เท่ากับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ เช่น ความต้องการเงินกู้ ปริมาณเงินฝาก อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลอย่างไรกับประชาชน และเศรษฐกิจ

การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลต่อการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งการใช้จ่ายของประชาชนจะส่งผลต่อราคาของสินค้าหรือบริการโดยรวมหรือที่เรียกว่า ‘อัตราเงินเฟ้อ’

อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลอย่างไรกับเรานั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นผู้กู้เงินหรือผู้ฝากเงิน

ถ้าอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง หากเราเป็นผู้กู้เงิน ดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายจะลดลง แต่หากเราเป็นผู้ฝากเงิน เราจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากน้อยลง

ดังนั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับลดลง เรามีแนวโน้มจะกู้เงินเพิ่มขึ้นเพราะอัตราดอกเบี้ยถูกลง นอกจากนี้ เรามีแนวโน้มจะฝากเงินน้อยลง และจะนำเงินไปใช้จ่ายหรือลงทุนมากขึ้น

หากเราเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สิน เช่น หุ้นหรืออสังหาริมทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้ความมั่งคั่งของเรามากขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำจะทำให้ประชาชนหันมาลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เช่น หุ้นหรืออสังหาริมทรัพย์ ทำให้ราคาหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้น ผู้ที่ถือครองสินทรัพย์จึงมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย

โดยสรุป เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับลดลงคนจะใช้จ่ายมากขึ้น ในทางกลับกัน เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นคนจะใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งการใช้จ่ายของประชาชนจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการต่อไป ตามหลักอุปสงค์และอุปทาน

ดังนั้น หากเราต้องการให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย เราต้องประเมินว่าคนมีแนวโน้มจะใช้จ่ายเท่าไร การผลิตสินค้าและบริการมีแนวโน้มมากหรือน้อยกว่ากำลังการผลิต แล้วจึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสม

หากคนใช้จ่ายน้อยเกินไป ราคาสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นน้อยหรือลดลง เศรษฐกิจจะชะลอตัวและการจ้างงานลดลง ในกรณีนี้ ธนาคารกลางอาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้ เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวดีอีกครั้ง

หากคนใช้จ่ายมากเกินไป ราคาสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นสูงมาก เศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็วและร้อนแรงเกินไปจะทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น เงินเฟ้อสูงขึ้นมากจนมูลค่าของเงินลดลง หรือเกิดวิกฤตฟองสบู่แตกทำให้ราคาสินทรัพย์ลดลงอย่างรวดเร็ว ในกรณีนี้ ธนาคารกลางอาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการใช้จ่าย ช่วยให้เศรษฐกิจไม่ร้อนแรงเกินไปได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook