จิ้งหรีด แหล่งโภชนาการชั้นเยี่ยม ดันไทยสู่ฮับโปรตีนโลก

จิ้งหรีด แหล่งโภชนาการชั้นเยี่ยม ดันไทยสู่ฮับโปรตีนโลก

จิ้งหรีด แหล่งโภชนาการชั้นเยี่ยม ดันไทยสู่ฮับโปรตีนโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รายงานจาก The World Population Prospects ปี 2019 โดยฝ่ายเศรษฐกิจและกิจการสังคมของสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 9.7 พันล้านคนภายในปี 2050 และอาจเพิ่มสูงเกือบ 1.1 หมื่นล้านคนในช่วงปี 2100 นั่นหมายความว่าภาวการณ์ขาดแคลนอาหารโลกย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ องค์กรระดับโลก หลายแห่งคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ในอนาคตโลกจะประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ส่งเสริมให้แมลงเป็นอาหารสำหรับคนทั่วโลก และยกให้จิ้งหรีดเป็นอาหารชนิดใหม่ของโลก เป็นโปรตีนสำรองในอนาคตที่มีประสิทธิภาพสูงและยั่งยืน (sustainable) และให้คุณค่าทางโภชนาการที่สูงกว่า หมู เนื้อ ไก่ และปลา หรือที่เรียกว่า Novel Food อีกทั้งจิ้งหรีดมีช่วงอายุการเพาะเลี้ยงไปจนถึงช่วงการเก็บเกี่ยวสั้นกว่าสัตว์ชนิดอื่น และใช้ทรัพยากรในการเลี้ยงน้อย ทั้งยังมีราคาถูก ลงทุนน้อย โปรตีนสูง เพาะเลี้ยงง่าย ลดการใช้ทรัพยากร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จิ้งหรีดจึงกลายเป็นแหล่งโปรตีนที่กำลังจะเข้ามาทดแทนเนื้อสัตว์ในอนาคต เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปได้จัดแมลงเป็นอาหารใหม่ (Novel Food)

แมลงจึงกลายเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่กำลังจะเข้ามาทดแทนเนื้อสัตว์ ข้อมูลวิจัยของกองโภชนาการ กรมอนามัย ระบุว่า คุณค่าทางโภชนาการของแมลงกินได้ในขนาดน้ำหนัก 100 กรัม จะมีปริมาณโปรตีนเทียบเท่าเนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาทูนึ่ง และไข่ไก่ในขนาดน้ำหนักเท่ากัน ดังนั้นแมลงจึงสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งอาหารได้ในพื้นที่ที่ขาดแคลนอาหารจำพวกโปรตีน ทั้งยังเป็นโปรตีนที่ปลอดภัย เพราะไม่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ และปลอดสารพิษต่างๆ ใช้อาหารและพื้นที่เลี้ยงน้อยกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์ทั่วไป และยังปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยกว่าการเลี้ยงวัวถึง 80 เท่า

02b12704-2bc9-47fa-b423-3ed28

ผลักดันจิ้งหรีดไทย สู่เวทีโลก

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ปัจจุบันตลาดแมลงทั่วโลกมีมูลค่ามากกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าในปี 2570 มูลค่าการตลาดของอาหารโปรตีนจากแมลงจะสูงถึง 2,067.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประเทศไทยสามารถผลิตแมลงเศรษฐกิจได้มากกว่า 7,000 ตันต่อปี และมีฟาร์มเลี้ยงจำนวนมาก โดยเฉพาะจิ้งหรีดซึ่งเป็นแมลงที่มีการเพาะเลี้ยงมากกว่า 23,000 ฟาร์ม และ จากกระแสโลก“จิ้งหรีด” จึงกลายเป็นแหล่งโปรตีนมาแรงแห่งยุค และได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดัน "จิ้งหรีดไทย" ส่งออกตลาดโลก พร้อมเร่งส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดให้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ มอบหมายหน่วยงานในสังกัด ส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ สร้างความเชื่อมั่นในผลผลิตให้ผู้บริโภค หลังพบว่าทั่วโลกนิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย ทำให้ตลาดส่งออกไทยขยายตัวรวดเร็วมีการเติบโตถึง 23% ต่อปี โดยเฉพาะในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน จากการที่ FAO ส่งเสริมให้คนทั่วโลกหันมาบริโภคจิ้งหรีด ได้มีส่วนช่วยผลักดันให้ตลาดส่งออกจิ้งหรีดไทยโตขึ้นด้วย ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯจึงได้ตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่การผลิตไปในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้ชื่อ “โครงการเกษตรฐานชีวภาพแมลงเศรษฐกิจใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

โดยตลาดอียูเป็นตลาดส่งออกหลักสำคัญ ซึ่งการส่งออกจิ้งหรีดจากไทยไปอียูนั้นยังคงเป็นไปตามระเบียบอาหารใหม่ ภายใต้ข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.8202-2560 หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีดเป็นมาตรฐานทั่วไปลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจรับรองตาม มกษ. เพื่อรองรับการยกระดับฟาร์มจิ้งหรีดให้ได้มาตรฐานระดับสากล โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ปักธงนำร่องเริ่มต้นไว้ที่จังหวัดกาฬสินธุ์และมหาสารคาม จนจิ้งหรีดไทยสามารถตีตลาดดังกล่าวได้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดทั้งแช่แข็ง แปรรูปต้มบรรจุกระป๋องหรืออบบดเป็นโปรตีนผงผสมอาหาร

วางเป้าหมายผลักดันไทยเป็นฮับโปรตีนจิ้งหรีดโลก

ปัจจัยทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นแรงส่งชั้นดีให้ บริษัท ไทย เอนโท ฟู้ด จำกัด ซึ่งเป็นอีก 1 ในบริษัทสัญชาติไทยที่ตั้งโรงงานแปรรูปผงโปรตีนและทำเป็น “ฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด” ครบวงจร แจ้งเกิดในเวทีแห่งกระแสโลกครั้งนี้ และถือเป็น “ฟู้ดเทค สตาร์ทอัพ”รายแรกของไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) มาตั้งแต่ปี 2559 โดยทำธุรกิจเกี่ยวกับแมลงอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีฟาร์มที่เพาะเลี้ยงจิ้งหรีด มีโรงงานที่แปรรูปผลิตภัณฑ์และการสร้างผลิตภัณฑ์ผงโปรตีนจากจิ้งหรีด พร้อมกับมีการทำวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ร่วมกับนักวิจัยสถาบันวิจัยของประเทศไทยอย่างเข้มข้น โดยผงโปรตีนแบบเข้มข้นได้ทำตลาดภายใต้แบรนด์ “Sixtein” เน้นการทำการตลาดระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจ ( Business-to-Business-B2B ) และนำสินค้าไปพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ตลาดโลกรองรับไม่อั้น

faca282b-7411-4746-9d92-f0a69

นายธีรณัฐ รุ่งสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ ไทย เอนโท ฟู้ดฯ กล่าวว่า “ สร้างรายได้ให้เกษตรเป็นความมุ่งมั่นของเรา ในช่วงแรกจะสร้างและขยายตลาดโปรตีนจิ้งหรีดในต่างประเทศให้แข็งแกร่งโดยใช้นวัตกรรมการผลิตของเรา และสนับสนุนเกษตรกรขยายการทำฟาร์มจิ้งหรีด ตอบสนองความต้องการของตลาดคือโตไปด้วยกัน ล่าสุดในปีนี้หลังจากการร่วมทุนกับบริษัทไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน)” หรือ TSTE ได้เสริมศักยภาพให้เราก้าวสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตโปรตีนจิ้งหรีดของประเทศไทย โดยเราวางเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโปรตีนจิ้งหรีดของโลก และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ภาคเกษตรกร ชุมชน สังคม และประเทศ ตั้งเป้ารายได้ 250 ล้านบาทในปี 2023 และก้าวสู่ระดับ 1,000 ล้านบาท ในปี 2025 แบ่งเป็นสัดส่วนการขายในประเทศ 30% และต่างประเทศ 70%”

นายธีรณัฐ กล่าวด้วยว่า โอกาสของไทยในตลาดโลกยังมีอีกมาก แต่ทุกภาคส่วนจะต้องประสานพลังกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาตลาดและเทคโนโลยีการผลิตเพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าสู่อุตสาหกรรมอาหารในเวทีโลก
“เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกร ด้วยการนำจิ้งหรีดมาแปรรูปเป็นผงโปรตีน ซึ่งจะได้ราคาดีกว่าการจำหน่ายแบบเป็นตัวสด จากรายงานการสำรวจอุตสาหกรรมตลาดวัตถุดิบเพื่อการผลิตโปรตีนโลกในปี 2019 มีมูลค่า 53.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะขยายตัวสู่ระดับ 91.89 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2027 ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และไทยมีโอกาสแทรกตัวสู่อุตสาหกรรมนี้ได้ไม่ยาก ดังนั้นเราควรเป็นส่วนหนึ่งของตลาด food protein ingredient ของโลกมีมูลค่าหลายหมื่นล้านเหรียญฯนี้ แทนที่จะเป็นแค่ตลาดแมลงกินได้ ซึ่งเป็น niche market มูลค่า หลักร้อยล้าน เราต้องผลักดันให้แมลงเป็นโปรตีนทางเลือกอีกตัวในตลาดกระแสหลัก ถ้าไทยส่งออกผงโปรตีนจิ้งหรีด 1,000 พันต่อปี ต้องการจิ้งหรีดสดเพื่อผลิตประมาณ 4,000 พันต่อปี ถ้าส่งออกผงโปรตีนจิ้งหรีด 10,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 9,000 ล้าน ต้องการจิ้งหรีดสดในการผลิต 40,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,600 ล้านบาท ซึ่งไทยมีศักยภาพในการเป็นฮับโปรตีนจิ้งหรีดของโลก”

d26eb227-5928-498a-89b1-18ad1

โดยไทย เอนโทฯ ได้นำ Isec Technology มาใช้เป็นเทคโนโลยีการแปรรูปผงโปรตีนจิ้งหรีดในระดับอุตสาหกรรมรายแรกของเอเซีย เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเฉพาะโดย ไทย เอนโทฯ เป็นกระบวนการผลิตแบบต่อเนื่อง ( Continuous process ) และ ใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของแมลง zero-waste process มีความละเอียดสูง มีสีอ่อน ไม่มีกลิ่นจิ้งหรีดคั่ว ประการสำคัญ Isec Technology ส่งผลให้ต้นทุนการผลิของบริษัทลดลงกว่า 30% เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการผลิต พลังงานและแรงงานน้อยลง และด้วยนวัตกรรมและกระบวนการผลิตทันสมัยที่สุดในเอเชีย โดยมีกำลังการผลิตผงโปรตีนจิ้งหรีดสูงสุดกว่า 1,200 ตัน ต่อปี ด้วยกำลังการผลิตผงโปรตีนจิ้งหรีด 4 ตันต่อวัน และสามารถ scale up ได้ 10 เท่าภายใน 1 ปี ทำให้ Thai Ento เป็นผู้ผลิตผงโปรตีนจิ้งหรีดในระดับอุตสาหกรรมรายแรกของประเทศ

0dd4fdc0-e281-49bb-b016-f5795

ทำไมต้อง “จิ้งหรีด”

จิ้งหรีด (Cricket) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acheta testacea Walker เป็นแมลงที่มีการนำมาเพาะเลี้ยงเชิงการค้าเพื่อการส่งออกมาตั้งแต่ปี 2555 นิยมเพาะเลี้ยงกันมากในเขตภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแพร่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดหนองบัวลำภู เลย ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี ร้อยเอ็ด ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี จังหวัดที่เลี้ยงมากที่สุด คือ จังหวัดเลย
ส่วนพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันมากได้แก่ พันธุ์ทองคำ พันธุ์ทองแดง และพันธุ์สะดิ้ง จัดเป็นธุรกิจการลงทุนที่ใช้พื้นที่น้อย จัดการง่าย ขายได้ราคาดี มีต้นทุนต่อหน่วยเฉลี่ยที่ 41 บาท/กิโลกรัม ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 45 -50 วันต่อรุ่น ใน 1 ปี จึงสามารถเลี้ยงได้ถึง 6 รุ่น ราคาขายเฉลี่ยขายหน้าฟาร์มได้ที่กิโลกรัมละประมาณ 80 บาท สร้างรายได้สุทธิหรือผลกำไรได้ 163,464 บาท/ปี จิ้งหรีดจึงกลายแมลงเศรษฐกิจที่มาแรงภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลและตลาดส่งออกให้การตอบรับดี การเลี้ยงจิ้งหรีดในขณะนี้ จึงไม่ใช่เลี้ยงไว้เพื่อบริโภคในประเทศเพียงอย่างเดียว หรือเป็นอาชีพเสริมที่เลี้ยงไว้ตามพื้นที่ว่างข้างบ้านเหมือนในอดีตอีกต่อไป เพราะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศให้ได้ถึงปีละกว่า 1,000 ล้านบาท

ปัจจุบันมีประชากรโลกกว่า 2,000 ล้านคนที่บริโภคแมลง ซึ่งชาวตะวันตกให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นี่จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการและเกษตรกรที่จะเดินหน้าปักธงไทยในตลาดโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook