APEC 2022 สรุปผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค-แขกพิเศษ

APEC 2022 สรุปผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค-แขกพิเศษ

APEC 2022 สรุปผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค-แขกพิเศษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปิดฉากอย่างสวยงาม สำหรับการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022 ครั้งที่ 29 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 65 โดยจัดขึ้นภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ "BCG" ที่ชูเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนหลัก "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล"

  • B (Bio Economy) : เศรษฐกิจชีวภาพ เป็นการใช้ทรัพยากรทางชีวภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ เช่น การแปรรูป สินค้าทางการเกษตร เป็น Bio Plastic ที่ย่อยสลายได้
  • C (Circular Economy) : เศรษฐกิจหมุนเวียน นำวัสดุ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาใช้งานใหม่
  • G (Green Economy) : เศรษฐกิจสีเขียว เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม และพัฒนาสังคม

โดยผู้นำแต่ละประเทศได้มีการหารือร่วมกันทั้งในวง และนอกวงกันอย่างต่อเนื่องในช่วงของการประชุม ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทย ก็ได้มีการหารือระดับทวิภาคี และพหุภาคีกับผู้นำแต่ละประเทศสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีความคืบหน้ากันอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้มีการร่วมลงนามข้อตกลงที่เกี่ยวข้องทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า-การลงทุน และความมั่นคงด้านต่างๆ อีกด้วย โดย Sanook Money ได้รวบรวมผลการประชุม APEC 2022 ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงิน-เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสมาชิกเอเปคไว้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ไทย-จีน

813206

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเยือนไทย ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค พร้อมกับได้มีการหารือเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ และประกาศความร่วมมือร่วมกันที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดังนี้

ด้านการสร้างความมั่งคั่ง : ไทย-จีนเห็นพ้องการเพิ่มพูนมูลค่า และอำนวยความสะดวกทางการค้าด้านต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ พร้อมทั้งส่งเสริมการลงทุนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังขอให้ทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP และส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงทางราง รวมถึงการดำเนินการโครงการรถไฟไทย-จีน ให้เป็นไปตามที่กำหนด

อีกทั้งควรต่อยอดความร่วมมือแบบดั้งเดิมทั้งเรื่องการลงทุน การค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือแบบใหม่ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล รถยนต์พลังงานทดแทน นวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่มองว่า ควรจะเร่งความร่วมมือสามฝ่ายไทย-จีน-ลาว ในเรื่องการเชื่อมโยงระบบรถไฟ โดยไทยและจีนควรส่งเสริมการเชื่อมโยงตั้งแต่ EEC ของไทยไปยังรถไฟจีน-ลาว ต่อไปจนถึงมณฑลยูนนานของจีน และเชื่อมไปยังเส้นทางขนส่งสินค้าทางบกและทางน้ำสายใหม่ของจีน สำหรับในขั้นต่อไปจีนหวังว่า จะมีการเชื่อมโยงทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และระบบศุลกากรเพื่อขยายการขนส่งสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย เช่น ทุเรียนและมังคุด

หลังจากการหารือเต็มคณะ ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศเอกสารความร่วมมือและความตกลงที่มีการลงนามในช่วงการเยือน จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่

978262

  1. แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2565-2569)
  2. แผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วย การร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21
  3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
  4. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
  5. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการก่อตั้งคณะทำงานความร่วมมือด้านการลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ไทย-ซาอุดีอาระเบีย

272429

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าเฝ้าฯ หารือทวิภาคีกับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และ ในฐานะแขกพิเศษของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ปี 2565 โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือ ติดตามผลการดำเนินการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพระหว่างกันดังนี้

ด้านความร่วมมือทวิภาคี : ไทยสามารถเป็นหุ้นส่วนของซาอุดีอาระเบียในภูมิภาคได้ โดยต่างยินดีที่ไทยและซาอุดีฯ มีการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา รวมถึงการจัดทำแผนการขับเคลื่อนและส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย–ซาอุดีอาระเบีย และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดีฯ-ไทย เพื่อเป็นรากฐานในการดำเนินการส่งเสริมความร่วมมือและเป็นกลไกติดตาม ซึ่งผู้นำทั้งสองต่างขอให้นำแผนดังกล่าวไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

ด้านเศรษฐกิจ : ไทยสนับสนุนด้านความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ (Mega-project) ต่างๆ ในซาอุดีอาระเบีย รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ไทยพร้อมร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะข้อริเริ่มซาอุดีอาระเบียตามวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย (Saudi Vision 2030) ซาอุดีฯ สีเขียวและตะวันออกกลางสีเขียว และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของไทย

นอกจากนี้ ซาอุดีฯ ให้ความสำคัญกับการลงทุนในไทย เป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทย และภาคเอกชนของไทยในการส่งเสริมการค้า การลงทุนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อีกทั้งไทย-ซาอุดีฯ ยังเห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงาน โดยไทยพร้อมร่วมกับซาอุดีฯ ขับเคลื่อนความร่วมมือตามเอกสาร White Paper ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และในด้านแรงงาน ทั้งสองฝ่ายมุ่งกระชับความร่วมมือ โดยซาอุดีฯ มองว่า แรงงานไทยถือเป็นแรงงานที่มีฝีมือติดอันดับต้นๆ ของโลก พร้อมได้เชิญชวนแรงงานไทยให้ไปทำงานที่ซาอุดีฯ ซึ่งจะมีโอกาสที่ดีสำหรับแรงงานไทยอีกมาก

ด้านสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน : ไทยยินดีที่การเดินทางไปมาระหว่างกันมีความสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณฝ่ายซาอุดีฯ สำหรับทุนการศึกษาประจำปีแก่นักเรียนและนักศึกษาของไทย หวังว่าจะมีความร่วมมือกันมากขึ้น พร้อมได้กล่าวเสนอให้มีการส่งเสริมความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา ในสาขาอาหารและโภชนาการ (อาหารฮาลาล) การเกษตร ปิโตรเคมี การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิต

ภายหลังการหารือข้อราชการ ไทย-ซาอุฯ ได้มีการลงนาม MOU 5 ฉบับ ได้แก่

836036 771070
  1. ข้อตกลงความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
  2. บันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย
  3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงท่องเที่ยวแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
  4. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
  5. บันทึกความเข้าใจระหว่างองค์กรกับดูแลและต่อต้านการทุจริต ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ราชอาณาจักรไทยว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ไทย-เวียดนาม

575016

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ นายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย พร้อมกับได้ร่วมหารือส่งเสริมความร่วมมือรอบด้าน

ด้านเศรษฐกิจ : ไทย-เวียนนาม ยินดีที่จะอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคการขนส่งสินค้าจากไทยผ่านเวียดนามไปประเทศที่สาม ด้วยการเร่งอนุญาตการนำเข้า–ส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรประเภทผัก ผลไม้ สินค้าปศุสัตว์ มะม่วง เงาะจากไทย และสินค้าปศุสัตว์ ได้แก่ ลูกไก่ และไข่ฟักพ่อแม่พันธุ์จากไทย นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังขอให้ทั้งสองประเทศส่งเสริมการผลิตข้าวเพื่อขยายตลาดในอาเซียนและเตรียมความพร้อมร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนปุ๋ยและอาหารสัตว์ พร้อมกับเร่งรัดจัดทำความตกลงและกลไกเจรจาด้านการเกษตรระหว่างกัน พร้อมกับพัฒนาความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน อำนวยความสะดวกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญอื่นๆ อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยาและเวชภัณฑ์

ด้านการลงทุน : ไทย-เวียดนาม พร้อมสนับสนุนนักลงทุนให้เข้ามาทำธุรกิจระหว่างสองประเทศ พร้อมยินดีกับการจัดตั้งหอการค้าไทยในเวียดนาม หรือ ThaiCham เมื่อปี 2564 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

924206

การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ได้แก่

ด้านคมนาคม : ทั้งสองฝ่ายจะเร่งเจรจาเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างไทยกับเวียดนามในทุกด้านทางบก ผ่านการปรับปรุงถนน R12 ใน สปป. ลาว และการจัดทำความตกลงเดินรถโดยสารไทย-ลาว-เวียดนาม และทางน้ำผ่านความตกลงเดินเรือชายฝั่งไทย-กัมพูชา-เวียดนาม

ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล : ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารแห่งชาติเวียดนาม ได้เริ่มพัฒนาการเชื่อมโยงเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านระบบ QR Code ระหว่างกัน ในอนาคตทั้งสองฝ่ายจะใช้ประโยชน์จากศักยภาพด้านเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการเงิน e-commerce ด้าน 5G และ 6G

นอกจากนี้ ยังมีพิธีแลกเปลี่ยนความตกลงร่วมกันระหว่าง จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่

200962

  1. แผนปฏิบัติการว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งไทย-เวียดนาม ในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2565 - 2570)
  2. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันในคดีแพ่ง
  3. บันทึกความเข้าใจเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องระหว่างราชอาณาจักรไทยกับนครดานัง
  4. บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเวียดนาม
  5. สัญญาสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือ เอ็กซิมแบงค์ กับธนาคารพาณิชย์เพื่อการค้าระหว่างประเทศแห่งเวียดนาม

s__16408612_0

ทั้งนี้ ไทย-เวียดนามได้ร่วมเปิดบริการชำระเงินผ่าน Cross-Border QR Payment ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงิน ลดต้นทุนทางการเงินและอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างกัน ทั้งด้านการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน

ไทย-ฮ่องกง

338873

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีแบบสั้น กับนายจอห์น ลี คา-ชิว ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ : ไทยและฮ่องกงยินดีที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะการค้าและการลงทุน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงแสวงหาความร่วมมือเพิ่มเติมในเรื่องการค้าและการลงทุน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนการค้าในผลิตภัณฑ์ทางด้านเกษตร

ไทย-ญี่ปุ่น

262960

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ : ไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนกับญี่ปุ่นในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมพิจารณาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของอาเซียนด้วย โดยญี่ปุ่นยังได้กล่าวเสนอเพิ่มพูนความร่วมมือธุรกิจ startup ของทั้งสองประเทศด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ขอให้ญี่ปุ่นพิจารณาขยายการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นในไทยเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว เชื่อมั่นว่า ทรัพยากรมนุษน์เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในภาคอุตสาหกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับไทยและญี่ปุ่นต่อไป

ด้านพลังงาน : ไทยและญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ทันสมัยและการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานคาร์บอนต่ำร่วมกันผ่านข้อเสนอความร่วมมือด้านพลังงาน (White Paper) ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และภายใต้ข้อริเริ่ม Asia Zero-Emission Community (AZEC) ของญี่ปุ่น ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย

ไทย-แคนาดา

685122

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีกับนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ : ไทยพร้อมสนับสนุนการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – แคนาดา ให้สำเร็จโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน สร้างความเชื่อมั่นและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและประชาชนของทั้งสองฝ่าย โดยนายกรัฐมนตรีแคนาดาพร้อมสานต่อข้อเสนอดังกล่าว โดยเชื่อมั่นว่า การเจรจาร่วมกันจะช่วยขยายศักยภาพทางทางการค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมกันที่กลับคืนสู่ประชาชน รวมไปถึงแรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ ด้วย

ด้านการท่องเที่ยว : นายกรัฐมนตรีแคนาดายินดีที่ได้ทราบว่า สายการบิน Air Canada จะเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างเมืองแวนคูเวอร์ – กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งถือเป็นการเปิดเส้นทางระหว่างอเมริกาเหนือ และประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นพ้องและเชื่อมั่นว่าจะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวได้มากขึ้น

ไทย-นิวซีแลนด์

154434

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีแบบสั้นกับ น.ส.จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดังนี้

ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม : นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความสำคัญในการรักษาสมดุลระหว่างการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เห็นพ้องกับแนวคิดของไทยเรื่องความสำคัญของการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศและการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

ด้านการท่องเที่ยว : ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการเชื่อมโยงในระดับประชาชน โดยพร้อมสนับสนุนการเปิดเที่ยวบินตรงไทย–นิวซีแลนด์ โดยนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เชื่อมั่นว่าจะเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงที่สำคัญเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ชาวนิวซีแลนด์ให้ความสนใจมาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นายกรัฐมนตรีเห็นพ้องว่า ทั้งสองประเทศต่างเป็นประเทศจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว ซึ่งไทยยินดีส่งเสริมในประเด็นดังกล่าวต่อไป

ไทย-ออสเตรเลีย

858510

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือกับ นายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ : นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ยืนยันความสำคัญที่ออสเตรเลียมีให้อาเซียน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้แต่งตั้งผู้แทนพิเศษสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประสบการณ์สูงในภาคธุรกิจ เชื่อมั่นว่าจะช่วยกระชับความร่วมมือ ด้านเศรษฐกิจ และส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับออสเตรเลียด้วย

ไทย-ฝรั่งเศส

696840

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีกับ นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในฐานะแขกพิเศษของเจ้าภาพ โดยสาระสำคัญในการหารือมีดังนี้

การจัดทำความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการไทย-ฝรั่งเศส : ขอให้ฝรั่งเศสเร่งรัดการดำเนินการให้มีความคืบหน้า โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะเร่งรัดดำเนินการคาดภายในเดือน ม.ค. 66 จะคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

ด้านเศรษฐกิจ : ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยไทยได้ปรับนโยบายเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG สอดคล้องกับแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU เป็นโอกาสที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะสนับสนุนการส่งออกสินค้าสิ่งแวดล้อม และการลงทุนในธุรกิจสีเขียว ไทยร่วมกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปสำหรับรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมจำนวน 54 รายการ ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมมีความร่วมมือกับไทยในด้านการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม ตลอดจนพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนา EEC

การสมัครเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต ของไทย : ฝรั่งเศสพร้อมให้การสนับสนุนไทยในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งการจัดงาน Expo 2028 – Phuket Thailand ในเดือน มิ.ย. 66 ระหว่างช่วงการประชุมสมัชชาใหญ่ (BIE General Assembly) ครั้งที่ 172 ที่กรุงปารีส

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคและภูมิภาค นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยพร้อมสนับสนุนฝรั่งเศสในการมีส่วนร่วมและมีบทบาทที่สร้างสรรค์ ทั้งในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) อาเซียน – ฝรั่งเศส และอาเซียน – EU รวมถึงการขับเคลื่อนวาระสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิก และมุมมองอาเซียนต่ออินโด – แปซิฟิก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ฝรั่งเศสสนับสนุนการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย - EU ด้วยเช่นกัน ซึ่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมสนับสนุนนโยบายระหว่างไทยกับ EU และพร้อมผลักดันการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย – EU อย่างแข็งขัน

ไทย-IMF

imff

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือกับ นางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF)

นายกรัฐมนตรีและกรรมการจัดการ IMF ต่างเห็นพ้องว่า ผลกระทบของสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้หลายประเทศได้รับผลกระทบ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม การปลูกป่า การเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน และประเด็นการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเด็นเหล่านี้อยู่ในนโยบายสำคัญของรัฐบาล อย่างไรก็ดี ฝ่าย IMF พร้อมให้การสนับสนุนไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในการพัฒนา และสร้างกลไกตลาดที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ซึ่งในโอกาสนี้ รัฐบาลไทยขอบคุณและพร้อมรับฟังคำแนะนำกรรมการจัดการ IMF เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook