กพช.ไฟเขียวตรึงค่าไฟ ม.ค.-เม.ย.66 ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ขอ PTT จัดสรรรายได้ช่วย

กพช.ไฟเขียวตรึงค่าไฟ ม.ค.-เม.ย.66 ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ขอ PTT จัดสรรรายได้ช่วย

กพช.ไฟเขียวตรึงค่าไฟ ม.ค.-เม.ย.66 ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ขอ PTT จัดสรรรายได้ช่วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาแนวทางเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน โดยมุ่งเน้นในส่วนของการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวนโยบายการบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน (ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย. 66) ดังนี้

1.การบริหารก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้า โดยจัดสรรก๊าซฯ จากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซฯ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยก่อน ในปริมาณที่ไม่เพิ่มภาระอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบัน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย และมอบหมายให้ กกพ. เร่งศึกษาการจัดทำอัตราค่าไฟฟ้า กลุ่มประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน

“กพช. มีมติเห็นชอบแนวทางตรึงค่าไฟฟ้า เดือน ม.ค.-เม.ย. 66 เฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ไว้เท่าเดิม 3.78 บาทต่อหน่วย แม้อัตราคาไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย. 2566 จะปรับขึ้นเท่าไรก็ตาม ทั้งนี้มอบหมายให้ กกพ.ไปจัดทำรายละเอียดตามแนวทาง กพช.ต่อไป ส่วนที่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ปรับการช่วยเหลือเป็นแบบขั้นบันได” รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ระบุ

2. กพช.ได้ขอความร่วมมือจาก บมจ. ปตท. (PTT) ให้พิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย. 66) มาช่วยสนับสนุนในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยแบ่งการจัดสรร ดังนี้

ส่วนที่ 1 เป็นส่วนลดราคาค่าก๊าซฯ ให้กับ กฟผ. เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือน โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแลการดำเนินการต่อไป

ส่วนที่ 2 เป็นส่วนลดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงแยกก๊าซฯ ในการคำนวณต้นทุนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิง

“เป็นการขอความร่วมมือในการสนับสนุน ส่วนรูปแบบนั้น ขึ้นกับ ปตท.” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

3. กพช. มีมติเห็นชอบให้ ปตท. ร่วมกับ กฟผ. บริหารจัดการผลกระทบของราคาก๊าซธรรมชาติต่อค่าไฟฟ้า โดยให้ ปตท. คิดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. IPP และ SPP ในระดับราคาเดียวกับที่ใช้การประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตั้งแต่เดือนที่ กพช. มีมติเป็นต้นไป

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. มีมติเห็นชอบการดำเนินการตามมาตรการการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response) ในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดการใช้ก๊าซฯ โดยกำหนดให้ผลตอบแทนจากการดำเนินมาตรการ Demand Response เป็นส่วนหนึ่งของค่า Ft และมอบหมายให้ กกพ. เร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อให้สามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในภาพรวมต่อไป อีกทั้งที่ประชุม กพช. ได้มติมอบหมายให้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาดำเนินการและกำกับดูแลแนวทางการบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงานต่อไป

มาตรการดังกล่าว เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาวิกฤติด้านราคาพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาสูงถึง 30 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียูในเดือน ต.ค. 65 ซึ่งสูงกว่าอดีตในปี 64 ที่ราคาเพียง 10 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู แต่คาดว่าช่วง ม.ค.-เม.ย.66 จะเป็นช่วงที่ราคาพลังงานปรับตัวขึ้นสูงสุด เพราะเข้าสู่ฤดูหนาวในต่างประเทศ ประกอบกับการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้น แต่คาดว่าหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาว ราคาพลังงานน่าจะดีขึ้น

“จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ราคาพลังงานโลกมีความผันผวน และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง รัฐบาลมีความเป็นห่วงในช่วงต้นปี ม.ค.-เม.ย. 66 เนื่องจากเป็นช่วงอากาศหนาวเย็น จึงให้กระทรวงพลังงานหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกียวข้อง เสนอแนวทางลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤต เพื่อให้ประชาชน ผู้ประกอบการได้ใช้ไฟในการประกอบกิจการ ดำรงชีวิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ราคาจะสูง แต่ยังอยู่ในวิสัยที่ไม่มากจนเกินไป” นายสุพัฒนพงษ์ ระบุ

อย่างไรก็ตามแนวโน้มราคา LNG ปี 66-67 จะอยู่ที่ 25-33 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งกำลังการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งอ่าวไทยลดลง จึงจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวในราคาตลาดจร ( Spot LNG ) ที่มีราคาสูงเข้ามาทดแทนเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อต้นทุนเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าของประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงต้องเร่งหามาตรการช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าให้มากขึ้นต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook