พาณิชย์ เผยส่งออก ต.ค.65 พลิกลบครั้งแรกรอบ 19 เดือน เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

พาณิชย์ เผยส่งออก ต.ค.65 พลิกลบครั้งแรกรอบ 19 เดือน เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

พาณิชย์ เผยส่งออก ต.ค.65 พลิกลบครั้งแรกรอบ 19 เดือน เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนต.ค.65 มีมูลค่า 21,772 ล้านดอลลาร์ หดตัว -4.4% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 22,368 ล้านดอลลาร์ หดตัว -2.1% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 596 ล้านดอลลาร์

ขณะที่การส่งออกของไทยในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 243,138 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9.1% การนำเข้า มีมูลค่า 258,719 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 18.3% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 15,581 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ การส่งออกในเดือน ต.ค.65 พลิกมาติดลบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน นับตังแต่เดือน ก.พ.64 ที่การส่งออกติดลบ -4.1% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า

รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ยอมรับว่า ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกดดันการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ และในปี 66 คือ ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก มาตรการ Zero Covid ของจีนที่ยังไม่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลง รวมถึงดัชนีภาคการผลิต (PMI) ของประเทศคู่ค้าสำคัญลดลงต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ยังมั่นใจว่าการส่งออกของไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4% อย่างแน่นอน

"การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จะเป็นแรงเสียดทานต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ และในปี 66 รวมทั้งมาตรการ Zero Covid ของจีนที่ยังไม่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลง ตลอดจนดัชนี PMI ของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ที่ลดลงต่อเนื่อง...แต่เป้าหมายการส่งออกทั้งปีที่ 4% เชื่อว่าจะทำได้เกินกว่าเป้าเกือบเท่าตัว" นายจุรินทร์ ระบุ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า หากแยกการส่งออกเดือนต.ค.65 ตามรายกลุ่มสินค้า จะพบว่าการส่งออกสินค้าเกษตร มีมูลค่า 1,915 ล้านดอลลาร์ หดตัว -4.3% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 1,688 ล้านดอลลาร์ หดตัว -2.3% สินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าการส่งออก 17,939 ล้านดอลลาร์ หดตัว -3.5%

ทั้งนี้ สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่มูลค่าการส่งออกลดลง เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เนื่องจากผลของราคาน้ำมันในตลาดโลกอ่อนตัวลง, อุปกรณ์ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ จากปัญหาการขาดแคลนชิป และปัญหาการขนส่ง, เหล็กและผลิตภัณฑ์ จากผลของราคาเหล็กในตลาดโลกลดลง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว

สำหรับตลาดส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีในเดือน ต.ค.นี้ 10 อันดับแรก คือ สวิสเซอร์แลนด์ ขยายตัว 103.5%, ซาอุดีอาระเบีย 49.6%, ลาว ขยายตัว 28.8%, ออสเตรเลีย ขยายตัว 18.8%, เวียดนาม ขยายตัว 13.3%, ไต้หวัน ขยายตัว 6.3%, กัมพูชา ขยายตัว 5.2%, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขยายตัว 4.1%, สหราชอาณาจักร ขยายตัว 3.7% และเม็กซิโก ขยายตัว 1.1%

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนการส่งออกของไทยในระยะต่อไป ได้แก่ หลายประเทศทั่วโลกทยอยยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทาง, กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าในกลุ่มตะวันออกกลางมีการเติบโตตามรายได้ของภาคพลังงาน, ผู้ผลิตในประเทศ ได้รับมอบเซมิคอนดักเตอร์เข้าสู่กระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง, ผู้นำเข้าแสวงหาวัตถุดิบทดแทน เพื่อลดต้นทุนการผลิต, เงินบาทที่อ่อนค่า และมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออกจากกระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ประชุมร่วมกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดยจะต้องเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ เพื่อทดแทนในตลาดเดิมที่การส่งออกลดลง เช่น ตลาด

ส่วนแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือ 2 เดือนของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค.) นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า การส่งออกไทยในช่วงจากนี้ไป จะต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้ไปจนถึงปี 66

"ไม่ได้หมายความว่า ภาคการส่งออกจะไม่สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญได้ การส่งออกยังสำคัญอยู่ และไม่ว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือนของปีนี้ จะเป็นบวกหรือลบ แต่ในภาพรวมทั้งปีเชื่อว่ายังเป็นบวกได้อยู่ ซึ่งจากที่ประเมินร่วมกับภาคเอกชน ยังสามารถโตได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ 4% โดยอาจจะโตได้เกือบเท่าตัว ส่วนเป้าส่งออกปี 66 ยังไม่ขอประเมิน ขอดูฐานการส่งออกของปีนี้ก่อน" นายจุรินทร์ ระบุ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook