ใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร ใช้ลดหย่อนภาษี ช้อปดีมีคืน 2566
ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่มีหน้าที่เสียภาษี สามารถใช้ช้อปดีมีคืน 2566 นำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้
ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร แล้วใบกำกับภาษีที่ต้องนำมาใช้กับ โครงการช้อปดีมีคืน 2566 ต่างจากใบกำกับภาษีที่เป็นกระดาษอย่างไร ซึ่งโครงการนี้เป็นหนึ่งมาตรการที่รัฐบาลมอบเป็นของขวัญปีใหม่ โดยกำหนดกรอบการเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 66 รวม 46 วัน พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็น 40,000 บาท โดย 30,000 บาทแรก สามารถเลือกใช้ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบที่อยู่ในรูปกระดาษ หรือใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Tax invoice และ e-Recipt มาลดหย่อนภาษีได้
หากจะใช้สิทธิเพิ่มเติมอีก 10,000 บาท หรือใช้สิทธิลดหย่อนเกินกว่า 30,000 บาท ซึ่งส่วนที่เกินจะต้องใช้เฉพาะ "ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์" หรือ e-Tax invoice และ e-Recipt มาลดหย่อนเท่านั้น แต่ขอย้ำว่า ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่ใบกำกับภาษีที่ผู้ขายสินค้าออนไลน์ส่งมาให้
ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร?
ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เป็นข้อมูลใบกำกับภาษี รวมทั้งใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับ ที่มาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในรูปแบบของไฟล์ Microsoft Word, Excel หรือ PDF ซึ่งผู้จัดทำเอกสารจะลงลายเซ็นแบบดิจิทัล (Digital Signature) ก่อนที่จะส่งให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการผ่านช่องทางออนไลน์อย่างอีเมล หรือ SMS
ส่วนการส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร ผู้ประกอบการจะต้องส่งเป็นไฟล์ XML เท่านั้น และต้องเก็บใบกำกับภาษีไว้อย่างน้อย 5 ปี
ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ควรมีรายละเอียดอะไรบ้าง?
ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเป็นไฟล์แบบใดแบบหนึ่ง เช่น PDF, Excel, Word (.PDF, .XLS, .XLSX, .DOC, .DOCX) การจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ 1 ไฟล์ มีขนาดไม่เกิน 3 MB ที่สำคัญห้ามใช้การถ่ายภาพ หรือการแปลงไฟล์เอกสารกระดาษให้เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่สำคัญต้องมีการลงลายเซ็นดิจิทัล หรือประทับรับรองเวลาเพื่อให้เอกสารถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานสำคัญในทางกฎหมายได้ โดยใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 (1)-(8) ต้องประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้
- คำว่า "ใบกำกับภาษี"
- ชื่อ ที่อยู่ และเลข 13 หลัก ของผู้ออก
- ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อ
- ลำดับที่ เล่มที่ (ถ้ามี)
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าสินค้า-บริการ
- จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- วันเดือนปีที่ออกใบกำกับภาษี
- ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
- ต้องมีคำว่า "เอกสารนี้ได้จัดทำและนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์"
- มีลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (Digital signature)
ผู้ประกอบการ ร้านค้าไหนสามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้บ้าง
ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร เช็กที่นี่ ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าเข้าร่วมมากกว่า 1,700 แห่งทั่วประเทศ