ยื่นภาษี 2565 เช็กสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในกลุ่มการออม-ลงทุน
ยื่นภาษี 2565 สายลงทุน-การออม ต้องรู้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการออมและการลงทุนอะไรได้บ้าง
ยื่นภาษี 2565 มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี ต้องเตรียมตัวยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2565 โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีการออม หรือการลงทุนในสินทรัพย์ หรือกองทุนต่างๆ จะต้องเตรียมขอเอกสารจากบริษัทหลักทรัพย์เพื่อใช้ประกอบในการขอลดหย่อนภาษีด้วย ซึ่งในกลุ่มการออม-ลงทุน สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอะไรได้บ้าง ไปดูพร้อมๆ กัน
กลุ่มลดหย่อนภาษีจากการออม-ลงทุน
กองทุนรวมเพื่อการออม SSF (Super Saving Funds)
- กองทุนรวมเพื่อการออมที่ลงทุนหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุนดัชนี ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ปรับรูปแบบมาจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF (Long Term Equity Fund) ที่ลงทุนในหุ้นเป็นหลัก
- จำนวนสูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- ต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 65 ถึงจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีปี 2565 ได้
- ถือครองอย่างน้อย 10 ปี โดยไม่สามารถขายได้ หากขายก่อนครบกำหนด ถือว่าผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี และต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการยกเว้น
- จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน SSF เมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF (Retirement Mutual Fund)
- หักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ
- ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี อย่างน้อยปีเว้นปี
- ลงทุนอย่างน้อย 5 ปีเต็ม นับจากวันที่ลงทุนวันแรก โดยนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุน คือ ปีใดไม่ลงทุนจะไม่นับว่ามีการลงทุนในปีนั้น
- ต้องลงทุนต่อเนื่องจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
เมื่อซื้อ RMF รวมกับกองทุนรวม SSF, กบข. , กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนรองเลี้ยชีพ
- ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท ส่วนเงินที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้ เพื่อเสียภาษี สามารถนำเงินส่วนเกินนี้ไปหักออกจากเงินได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายได้
- เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กองทุนรวม RMF, กบข., กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
- ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
- เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
- ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
- เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กบข., RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
- ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท
- เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กบข., RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนครูโรงเรียนเอกชน ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม)
- ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- บุคคลธรรมดาที่ลงหุ้น หรือลงทุน (ทั้งกรณีจัดตั้งและเพิ่มทุน) ในธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) โดยธุรกิจนั้นต้องจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่ประสงค์แบ่งปันกำไร
- ผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต้องถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนจนกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นเลิกกิจการ เว้นแต่กรณีที่กำหนด