รู้จัก Virtual Bank ก่อน ธปท.กางแนวอนุญาต 12 ม.ค. 2566
ในยุคนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธกระแสดิจิทัลที่มาแรงแซงทางโค้ง จนสามารถพลิกโฉมรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน ตลอดจนการดำเนินธุรกิจให้มีความสะดวกสบาย ง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสบนหน้าจอโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์, การใช้ QR code สแกนชำระค่าสินค้า-บริการต่างๆ ที่ใช้กันทั่วบ้านทั่วเมือง เช่น โครงการคนละครึ่ง ไม่เว้นแม้แต่การซื้อสลากดิจิทัล 80 บาท ซึ่งการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้ ในอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นภาพของการเข้าใช้บริการธนาคารที่สาขา หรือตู้ ATM ที่ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด นำมาซึ่งการทยอยปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา
นอกจากพัฒนาการทางการเงินในประเทศที่เห็นได้ชัดเจนข้างต้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามพัฒนาการของระบบการเงินในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และพบว่า ธนาคารกลางหลายประเทศได้อนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ เพื่อใช้ประโยชน์จากพัฒนาการของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลทางเลือก โดยให้จัดตั้งเป็น Digital-only Bank หรือ Virtual Bank ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ไร้สาขา และให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ ดังนั้น ธปท.จึงเห็นว่า Virtual Bank อาจเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยตอบโจทย์การปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลของระบบเศรษฐกิจการเงินไทย
ลองทำความรู้จักกับ Virtual Bank
“Virtual Bank” หมายถึง ธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยมีลักษณะสำคัญ คือ 1.ไม่มีจุดให้บริการที่มีสถานที่ตั้งทางกายภาพ (เช่น สาขา และตู้ ATM) แต่สามารถจัดตั้งสำนักงานใหญ่ได้ และ 2. ให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ เริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักลูกค้า (KYC) การรับฝากเงิน ไปจนถึงการให้บริการทางการเงินอื่น ๆ เช่น การให้สินเชื่อ การโอนและชำระเงิน และการลงทุน โดยลูกค้าสามารถใช้บริการ ติดต่อสอบถาม หรือร้องเรียนการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่ Virtual Bank จัดเตรียมไว้
ความได้เปรียบของ Virtual Bank ทำให้มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม, สามารถพัฒนานวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค และสามารถนำเสนอประสบการณ์ในการใช้บริการทางการเงินที่ดี ให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำไมต้องมี Virtual Bank
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง Virtual Bank ในบริบทของระบบการเงินไทยนั้น ก็เพื่อ
1. เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของภาคครัวเรือน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะบริการด้านสินเชื่อ
2. พัฒนานวัตกรรมทางการเงิน และส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
3. เพิ่มประสิทธิภาพและการแข่งขันในระบบการเงิน
ปัจจุบัน ธนาคารกลาง และหน่วยงานกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินหลายแห่งในต่างประเทศ ได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม และ Non-bank ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจการเงิน มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี สามารถจัดตั้ง Virtual Bank ได้ในหลายรูปแบบ ทั้ง
- จัดตั้งบริษัทลูกแยกออกจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม
- จัดตั้งเป็นบริษัทลูกของ Non-bank
- เป็นการร่วมทุนระหว่างธุรกิจต่าง ๆ โดยอาจเป็นการร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมกับ Non-bank หรือ การร่วมทุนระหว่าง Non-bank ต่างประเภทที่สามารถเสริมจุดแข็งระหว่างกัน โดยรูปแบบของการอนุญาต และจำนวนใบอนุญาต จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และบริบทของประเทศนั้น ๆ
เมืองไทยมี Virtual Bank แล้วหรือยัง
สำหรับประเทศไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เตรียมออกหลักเกณฑ์การดำเนินธุรกิจ Virtual Bank ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นภายในเดือนม.ค.นี้ จากนั้น ขั้นตอนต่อไปจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่จะนำไปสู่การพิจารณาออกใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจ Virtual bank ในประเทศไทยต่อไป ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นความชัดเจนของ Virtual Bank ได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ล่าสุด วันที่ 12 ม.ค. 66 ธปท. มีกำหนดจะจัดงาน Media Briefing : แนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) โดยนายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. และนางวิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. จะมาเป็นผู้ให้ข้อมูลรายละเอียดของแนวทางการอนุญาตดังกล่าว
ส่วนธนาคารพาณิชย์ของไทย ที่เตรียมพร้อมโดดเข้าร่วมในธุรกิจ Virtual Bank ที่เห็นได้ชัดๆ แล้ว น่าจะเป็นธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งได้เซ็น MOU ไปแล้วกับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) เพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ให้บริการ Virtual bank
ซึ่งเมื่อแนวทางการอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ในประเทศไทยมีความชัดเจน เชื่อว่าในระยะอันใกล้นี้ จะได้เห็นธนาคารพาณิชย์ อีกหลายแห่ง ประกาศลงสนามในธุรกิจ Virtual Bank เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับระบบการชำระเงินของประเทศไทยให้สามารถพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น
Virtual Bank ในต่างประเทศ
ส่วนในต่างประเทศ พบว่ามีหลายประเทศได้เปิดให้บริการ Virtual bank ไปแล้ว ส่งผลให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกรณีที่กระบวนการรู้จักตัวตน (KYC) และการรับสมัครลูกค้าเป็นไปได้โดยง่าย หรือมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจแพลตฟอร์มซึ่งมีฐานลูกค้าเดิมอยู่เป็นจำนวนมาก
ตัวอย่าง Virtual bank ในต่างประเทศที่เปิดดำเนินการแล้ว เช่น
1. สหราชอาณาจักร
- Starling Bank ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาแห่งแรกของสหราชอาณาจักร
- Monzo ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่เน้นให้บริการทางการเงินเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่
2. สาธารณรัฐเกาหลี
- Kakao Bank ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ มีจำนวนลูกค้ากว่า 12.5 ล้านคน
3. เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
- Livi ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Bank of China, JD Digits และ Jardines
- Mox ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาของธนาคาร Standard Chartered
4. สาธารณรัฐประชาชนจีน
WeBank ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาของกลุ่ม Tencent (ผู้ให้บริการ WeChat) ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 100 ล้านคน