สภาพัฒน์ คาด GDP ไทยปี 66 โต 3.2% หวังท่องเที่ยวเครื่องยนต์หลักดันเศรษฐกิจ

สภาพัฒน์ คาด GDP ไทยปี 66 โต 3.2% หวังท่องเที่ยวเครื่องยนต์หลักดันเศรษฐกิจ

สภาพัฒน์ คาด GDP ไทยปี 66 โต 3.2% หวังท่องเที่ยวเครื่องยนต์หลักดันเศรษฐกิจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ได้แก่ 1) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 2) การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ 3) การขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และ 4) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคเกษตร

ในปี 2566 นี้ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยสภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ขึ้นเป็น 28 ล้านคน จากเดิม 23 ล้านคน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดประเทศของจีน และคาดว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเพิ่มขึ้นเป็น 6-7 หมื่นบาท/คน/ทริป

ขณะที่การส่งออกไทยในปี 66 คาดว่าจะหดตัว 1.6% ที่มูลค่า 2.98 แสนล้านดอลลาร์ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1% ส่วนการนำเข้าก็คาดว่าจะหดตัว 2.1% ที่มูลค่า 2.68 แสนล้านดอลลาร์ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.6% ดุลการค้า คาดว่าเกินดุล 12.1 พันล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัด คาดว่าเกินดุล 8.6 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 1.5% ต่อ GDP อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 2.5-3.5%

โดยการส่งออกได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลัก ที่เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ไตรมาส 4/65 ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, อังกฤษ, ญี่ปุ่น และจีน ที่ล้วนแต่เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ ส่งผลให้การส่งออกของไทยหดตัวลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4

ทั้งนี้ ไทยจำเป็นต้องจัดทำข้อตกลงในการเปิดเสรีการค้า (FTA) กับประเทศใหม่ๆ ให้มากขึ้น รวมทั้งเร่งเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป เพื่อขยายตลาดส่งออกของไทยให้กว้างขวางขึ้น ขณะเดียวกันต้องเร่งปรับโครงสร้างการผลิตสินค้า โดยฉีกจากการผลิตสินค้าในรูปแบบเดิมๆ มาเป็นการผลิตสินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายมากขึ้น และลดต้นทุนการผลิตสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการทำตลาดส่งออกอย่างเข้มข้นมากขึ้น

นายดนุชา กล่าวว่า ในปี 2566 ยังมีปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก 2.ภาระหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคธุรกิจ ที่ยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย 3.การลดลงของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และ 4.เงื่อนไขและบรรยากาศทางการเมือง ภายหลังการเลือกตั้ง

“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก แต่ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะจะมีผลกระทบต่อไทยในเรื่องต้นทุนพลังงาน ส่วนปัจจัยเสี่ยงในประเทศที่สำคัญ คือ หนี้ครัวเรือน ที่ยังเป็นความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย และจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่องทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ และการยืดหนี้” เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ

นายดนุชา กล่าวว่า การเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในปีนี้ อาจจะมีผลกระทบต่อปฏิทินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 เนื่องจากจะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาล และมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งอาจจะส่งผลให้การจัดทำงบประมาณปี 67 อาจล่าช้าไปจาก 1 ต.ค.66

“ดังนั้นจะต้องเร่งดำเนินการในส่วนนี้ หลังจากมีรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะมาตรการด้านเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งในช่วงปี 66 นี้ ยังเป็นปีที่ต้องบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ” เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า นอกจากนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐก็เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้ฐานะการคลังได้เข้ามาเป็นส่วนในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ขณะเดียวกันจะต้องรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ โดยพยายามไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่จะนำไปสู่ความรุนแรง หรือเป็นภาพที่ก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนและประชาชนทั่วไปด้วย

อย่างไรก็ดี จากที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/65 หดตัว 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/65 ซึ่งความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/66 จะออกมาติดลบเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส (QoQ) นั้น นายดนุชา มองว่าอาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี เพียงแต่มาตรการต่างๆ ที่จะออกมาในช่วงหลังจากนี้ คงจะต้องมาช่วยเร่งเรื่องการส่งออก และการท่องเที่ยว เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส

ส่วนความจำเป็นในการนำงบประมาณมาใช้กับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวนั้น นายดนุชา มองว่า การกระตุ้นการท่องเที่ยวในปีนี้ น่าจะออกมาในรูปแบบของการจัดโปรแกรมส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือโปรแกรมทัวร์ให้น่าสนใจมากกว่า ส่วนการนำงบประมาณลงไปใช้เพื่อการกระตุ้นท่องเที่ยวนั้น อาจจะเป็น priority ในลำดับท้ายๆ

“คงต้องใช้มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในประเทศ ที่ยังต้องดูก่อนว่ามีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณเข้ามาช่วยสนับสนุนหรือไม่ เพราะถ้าสามารถจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชาชน และภาคธุรกิจในปีนี้ ในส่วนนี้คงต้องเป็น priority ท้ายๆ ในการที่จะต้องใช้งบประมาณส่วนอื่นมาสนับสนุน อยากให้ใช้มาตรการส่งเสริมโปรแกรมการท่องเที่ยวก่อน โดยเฉพาะการจัดโปรแกรมที่จะดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามา และอยู่นานขึ้น มีกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น จะเป็นตัวสำคัญที่อยากให้ทำเป็นลำดับแรก” นายดนุชา ระบุ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook