ธปท.จ่อต่อมาตรการช่วยลูกหนี้ หลังค่าครองชีพสูง-ดอกเบี้ยขาขึ้น
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งมาตรการสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟู ที่ได้ปรับเปลี่ยนเป็นสินเชื่อเพื่อการปรับตัว โดยจะสามารถขยายต่อไปได้อีก 1 ปี และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ซึ่งทั้ง 2 มาตรการจะหมดอายุในวันที่ 9 เม.ย. 66 โดยเร็วๆ นี้จะมีความชัดเจนว่าจะต่ออายุมาตรการดังกล่าวหรือไม่
ส่วนมาตรการแก้หนี้ระยะยาว จะหมดอายุสิ้นปี 66 เชื่อว่าแม้มาตรการจะหมดลง แต่ธนาคารพาณิชย์ก็ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อยู่ และ ธปท.ได้เน้นย้ำให้เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินและ Non bank ให้ช่วยเหลือลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถชำระหนี้หรือรายได้ในปัจจุบัน
“คาดว่าวันใกล้หมดอายุมาตรการในวันที่ 9 เม.ย.นี้ จะมีการเร่งดีลพักทรัพย์พักหนี้ จากตอนนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้ว 6.5 หมื่นราย ถือว่าเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4-5 หมื่นราย ด้านสินเชื่อเพื่อการปรับตัว มีส่งโปรดักท์โปรแกรมมา 16 แห่ง และได้รับอนุมัติ 9 แห่ง ยอดยังไม่เยอะ แค่หลักพันกว่าล้านบาท ส่วนใหญ่ปรับตัวไปสู่ดิจิทัล พัฒนานวัตกรรมทำสมาร์ทฟาร์มมิ่ง และไปสู่พลังงานทดแทน ติดตั้งโซลาร์เซลล์ เป็นต้น” น.ส.สุวรรณี กล่าว
น.ส.สุวรรณี กล่าวถึงทิศทางหนี้เสียในปีนี้ว่า อาจจะทยอยเพิ่มขึ้น แต่จะไม่สูงขึ้นเป็นหน้าผา โดยภาพรวมถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19 ด้วยมาตรการช่วยเหลือที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งเชื่อว่ายังเพียงพอรองรับสถานการณ์ลูกหนี้ที่เปราะบางได้
“เดิมเราคิดว่าเมื่อโควิด-19 ดีขึ้นชัดเจน สถานการณ์ต่าง ๆ ก็น่าจะดีขึ้น แต่ที่เห็นเมื่อปลายปี 65 ที่ผ่านมา คือ การส่งออกที่ดูไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จากการชะลอตัวของฝั่งคู่ค้า และค่าครองชีพที่สูง อาจจะกระทบครัวเรือน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อาจจะมีกลุ่มเปราะบางที่ต้องจับตาดูอยู่ ดังนั้นสิ่งที่ ธปท. ได้เน้นย้ำกับทางฝั่งเจ้าหนี้เสมอมา คือ การเน้นให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้” น.ส.สุวรรณี กล่าว
ทั้งนี้ หนึ่งในเครื่องมือแก้ไขหนี้ NPL คือ โครงการคลินิกแก้หนี้ ที่เริ่มเปิดบริการรับช่วยเหลือลูกหนี้ NPL มาตั้งแต่กลางปี 60 จนถึง ม.ค.66 มียอดแล้ว 3.6 หมื่นราย คิดเป็น 1.05 แสนบัญชี เป็นมูลหนี้ 7,140 ล้านบาท และได้ปรับเกณฑ์เงื่อนไขของคลินิกแก้หนี้ใหม่ ให้ครอบคลุมถึงลูกหนี้ที่มีสถานะ NPL ก่อนวันที่ 1 ก.พ.66 โดยจะต้องเป็นลูกหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้เสียรวมไม่เกิน 2 ล้านบาท ได้รับดอกเบี้ย 3-5% ต่อปี และจะมีแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเข้าร่วมเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมี 35 ราย
ขณะที่ความคืบหน้าของมาตรการฟื้นฟู (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.พ. 66) พบว่า มีการอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัว แล้ว 2.12 แสนล้านบาท จากวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท คิดเป็นผู้ได้รับความช่วยเหลือ 5.98 หมื่นราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3.5 ล้านบาทต่อราย ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้ วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท มียอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการแล้ว 6.49 หมื่นล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 442 ราย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้พยายามทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบมาก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ถ้าเทียบกับต้นทุนค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตจริงนั้น ต้นทุนรายจ่ายจากดอกเบี้ยไม่ได้สูงมาก แต่ในอีกด้าน ธปท. ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้กลับมาเป็นปัญหา ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์มากกว่า
“ลูกหนี้กลุ่มที่น่ากังวล คือ กลุ่มที่รายได้ไม่กลับมาเต็มที่เหมือนก่อนโควิด-19 แต่จากการที่จีนเปิดประเทศ น่าจะส่งผลดีกับไทย แนวโน้มสถานการณ์ต่าง ๆ ก็น่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้น ในภาพรวม จึงไม่ได้มีกลุ่มที่เป็นห่วงมากกว่าในอดีต เพราะปัจจุบันสถานการณ์เริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้ว” น.ส.สุวรรณี ระบุ
สำหรับความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และ Non bank มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนหน้า ตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมียอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 3.38 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้ แบ่งเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์และ Non bank 1.89 ล้านล้านบาท และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 1.49 ล้านล้านบาท โดยยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือทั้งหมด คิดเป็น 5.22 ล้านบัญชี ในส่วนนี้แบ่งเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ 1.78 ล้านบัญชี และลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอีก 3.43 ล้านบัญชี