ทวงหนี้บนเฟซบุ๊กเสี่ยงผิดกฎหมาย มีโทษทั้งจำคุก-ปรับอ่วม!

ทวงหนี้บนเฟซบุ๊กเสี่ยงผิดกฎหมาย มีโทษทั้งจำคุก-ปรับอ่วม!

ทวงหนี้บนเฟซบุ๊กเสี่ยงผิดกฎหมาย มีโทษทั้งจำคุก-ปรับอ่วม!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เจ้าหนี้ต้องรู้ โพสต์ทวงหนี้บนเฟซบุ๊กเสี่ยงผิดกฎหมาย มีโทษทั้งจำคุก และปรับไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท

รู้หรือไม่? การโพสต์ทวงหนี้ผ่านทางเฟซบุ๊กถือว่ามีความผิดกฎหมายทวงหนี้ ยิ่งถ้ามีชื่อ-นามสกุล รูปใบหน้าลูกหนี้ที่เห็นชัดเจนด้วย ยิ่งมีความผิดเพิ่มเข้าไปอีก ถ้าอย่างนั้น เจ้าหนี้จะทวงหนี้อย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย Sanook Money มีข้อมูลดีๆ จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาฝากกัน

ใครมีสิทธิทวงหนี้?

ผู้มีสิทธิทวงหนี้ คือ เจ้าหนี้โดยตรง อาจเป็นสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการสินเชื่อ/บัตรเครดิต/เช่าซื้อ ซึ่งครอบคลุมเจ้าหนี้นอกระบบ และเจ้าหนี้ในกิจกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย (เช่น หนี้การพนัน) รวมถึงผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ตามกฎหมาย ผู้รับมอบอำนาจช่วง (ผู้ได้รับมอบอำนาจ จากผู้รับมอบอำนาจอีกทอดหนึ่ง) ผู้ประกอบธุรกิจทวงหนี้ และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ด้วย ซึ่งในกรณีผู้รับมอบอำนาจมาทุกกรณี หากลูกหนี้ทวงถามต่อหน้าต้องนำหลักฐานการมอบอำนาจมาแสดงด้วย

กฎหมายให้สิทธิเจ้าหนี้ทวงหนี้ได้ในขอบเขตไหน?

การทวงหนี้ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของลูกหนี้ กฎหมายจึงกำหนดวิธีการทวงหนี้ไว้ ดังนี้

  1. การติดต่อ: โดยบุคคล หรือไปรษณีย์
  2. สถานที่ติดต่อ: สถานที่ที่ระบุไว้เพื่อการทวงหนี้ หากลูกหนี้ไม่ได้แจ้งให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว หรือตามที่คณะกรรมการทวงถามหนี้ประกาศกำหนด
  3. เวลาที่ติดต่อ: สามารถทวงหนี้โดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ ระหว่าง 8.00 น.- 20.00 น. วันหยุดราชการ 08.00 น.-18.00 น.
  4. ความถี่: สามารถทวงได้ ไม่เกิน 1 ครั้งต่อวัน (ถ้า “เพื่อนทวงเพื่อน” ทวงได้เกิน 1 ครั้งต่อวัน)

นับความถี่การทวงอย่างไร?

นับการทวงเมื่อลูกหนี้รับโทรศัพท์และรับทราบการทวงอย่างชัดเจน หรือเมื่อลูกหนี้เปิดอ่านไลน์การทวง แต่ถ้าไลน์ไปแต่ไม่ได้เปิดอ่าน โทรหาไม่รับ หรือโทรไปแต่ยังไม่ทันได้พูดเรื่องหนี้ชัดเจน เป็นแค่การทักทายกัน ตามกฎหมายจะไม่นับเป็นการทวงหนี้

เจ้าหนี้ “ห้ามทวงหนี้” แบบไหนบ้าง?

ลูกหนี้ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย ดังนั้น เจ้าหนี้จะต้องทวงถามหนี้กับลูกหนี้อย่างสุภาพชน ให้เกียรติ ละเว้นการประจานดูหมิ่นให้ลูกหนี้เกิดความเสื่อมเสียและอับอาย เพื่อปกป้องสิทธิของลูกหนี้ กฎหมายจึงกำหนด ข้อห้ามต่าง ๆ ในเรื่องการทวงหนี้ไว้อย่างชัดเจน ได้แก่

  • ห้ามทวงถามหนี้กับคนอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้ เว้นแต่บุคคลที่ลูกหนี้ระบุไว้
  • ห้ามบอกความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่น เนื่องจากกฎหมายไม่ให้ประจานลูกหนี้ หรือทำให้ลูกหนี้เสียชื่อเสียง โดยบอกคนที่ไม่เกี่ยวข้อง ยกเว้น (1) เป็นคนในครอบครัวลูกหนี้ เช่น สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน และกรณีที่บุคคลอื่นถามเจ้าหนี้ว่า “มาติดต่อเพราะสาเหตุอะไร”
  • ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจ บนซองจดหมาย หนังสือหรือสื่อใด ๆ ให้(บุคคลอื่น) เข้าใจว่า ติดต่อเพื่อทวงหนี้
  • ห้ามติดต่อ แสดงตนทำให้ผู้ติดต่อด้วยเข้าใจผิด เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อของลูกหนี้
  • ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น ถือว่ามีความผิด ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 และอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย
  • ห้ามใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น
  • ห้ามทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประกาศ

หากเจ้าหนี้ละเมิดข้อห้ามจะมีผลอย่างไร?

หากพบว่ามี เจ้าหนี้หรือผู้ที่ทวงถามหนี้ฝ่าฝืนข้อปฏิบัติในการทวงหนี้ข้างต้น ถือว่ามีความผิด ประชาชนสามารถแจ้งร้องเรียนเอาผิดได้ โดยคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้สามารถมีคำสั่งให้หยุดการกระทำดังกล่าว หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับได้

เมื่อลูกหนี้พบว่าเจ้าหนี้ละเมิดข้อห้ามข้างต้นจะทำอย่างไร?

ลูกหนี้หรือประชาชนสามารถร้องเรียนได้ที่ “คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้” ที่มีตั้งแต่ระดับประเทศ และระดับจังหวัด หรือ “ที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจ” ในท้องที่ เพื่อแจ้งการกระทำความผิดได้

และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 คุ้มครองสิทธิของลูกหนี้ และตาม พ.ร.บ. นี้ ถ้าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ที่เป็นเท็จ (มาตรา 12) หรือผู้ทวงถามหนี้กระทําการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม (มาตรา 13) จะได้รับโทษที่หนักขึ้นด้วย สุดท้ายนี้ ทีมงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับลูกหนี้ เพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook