แคมเปญออนไลน์ไหน… ก็ไปรอด ด้วยกลยุทธ์ SMART(EST)
ในยุคแห่งการแข่งขันของตลาดออนไลน์ที่แสนดุเดือด แบรนด์ทุ่มงบกันมากมายเพื่อยิงแอด แต่กลับได้ผลลัพธ์ไม่เหมือนที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ แม้จะใช้กลยุทธ์สุด SMART แค่ไหนก็ตาม หนำซ้ำยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม และการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่นักการตลาดและเจ้าของแบรนด์ต้องหมั่นปรับตัว ซึ่ง ภคสุภ เพ็ชรดี ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง บริษัทดิจิมัสเกตเทียส์ จำกัด ให้คำแนะนำว่า แบรนด์ควรเปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์ SMARTEST เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ภคสุภชี้ว่า ปัจจุบันการทำแคมเปญออนไลน์ตามแนวทาง SMART Objective (Specific, Measurable, Achievable, Relevant และ Time-based) ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เพราะเป็นการกำหนดวัตถุประสงค์โดยตั้งต้นจากปัจจัยภายในเท่านั้น ขาดการวิเคราะห์จากปัจจัยภายนอก แต่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า SMARTEST หรือ E (Empathy) คือเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค S (Situation) คือมองภาพรวมสถานการณ์ตลาดและทิศทางเศรษฐกิจ หรือต้องพิจารณาว่ามีสถานการณ์อะไรบ้างที่ทำให้แบรนด์ได้เปรียบในการทำตลาดออนไลน์ และ T (Touch Point) คือรู้ว่าสิ่งที่เราทำจะไปที่แตะที่ Touch Point ไหน หรืออยู่ในแพลตฟอร์มอะไร
ทุกวันนี้ราคาและความสะดวกสบายยังเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค ส่วนปัญหายอดฮิตที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเจอก็คือ พฤติกรรม “ทิ้งรถเข็น” หรือการที่นักช้อปเพิ่มสินค้าในรถเข็นแต่ไม่ซื้อ ซึ่งหากสามารถทำให้ลูกค้าจ่ายเงินซื้อของในรถเข็นได้ ร้านค้าก็จะมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งที่นักการตลาดต้องทำคือ ทำให้ผู้บริโภคมองเห็นโปรโมชันมากที่สุด และทำให้คนที่เพิ่มสินค้าในรถเข็นสั่งซื้อสินค้าให้ได้โดยการนำเสนอโปรโมชันที่ผู้บริโภคไม่อาจปฏิเสธได้
“การเก็บข้อมูลเชิงลึก (Insight) จากกลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวมาวางแผนโปรโมชันที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่ต้องซื้อของขวัญ สิ่งที่แบรนด์ควรทำคือ นำเสนอชุดผลิตภัณฑ์ที่รวมสินค้าหลายรายการในราคาที่ถูกลง เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่มองหาความคุ้มค่า ต้องทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าการซื้อสินค้าตอนนี้เดี๋ยวนี้เป็นสิ่งที่คุ้มค่า เพราะมีโปรโมชันพิเศษสุดๆที่ผู้บริโภคไม่อาจปฏิเสธได้”
“สิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่งในการทำแคมเปญคือ การวัดความสำเร็จ เพื่อให้ทราบว่าแคมเปญที่เราทำไปนั้นสามารถตอบโจทย์เป้าหมายได้หรือไม้ โดยมีการกำหนดดัชนีชี้วัดที่ชัดเจน และมีการเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และพัฒนาตลอดการทำแคมเปญเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด”
ภคศุภกล่าวทิ้งท้ายว่า “การยิงแอดไม่ใช่คำตอบเดียวของการตลาดออนไลน์ เพราะความเป็นจริงมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้เกิดยอดขาย ดังนั้น อยากให้นักการตลาดศึกษาและทำความเข้าใจพื้นฐานการตลาดออนไลน์ รวมถึงแพลตฟอร์มที่จะใช้สื่อสารกับผู้บริโภค ต้องมองภาพรวมของตลาดอย่างรอบด้านและชัดเจน ทั้งในมุมของแบรนด์เอง มุมของคู่แข่ง และที่สำคัญคือมุมของกลุ่มเป้าหมาย การทำตลาดออนไลน์ คือ การที่เราต้องบูรณาการหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างราบรื่นและเกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดตามแผนที่วางไว้”