2 ยักษ์ซีฟู้ดไทย-เวียด แนะทางรอดธุรกิจ ต้องชูบรรษัทภิบาล สวัสดิภาพชาวประมง

2 ยักษ์ซีฟู้ดไทย-เวียด แนะทางรอดธุรกิจ ต้องชูบรรษัทภิบาล สวัสดิภาพชาวประมง

2 ยักษ์ซีฟู้ดไทย-เวียด แนะทางรอดธุรกิจ ต้องชูบรรษัทภิบาล สวัสดิภาพชาวประมง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บริษัทด้านประมงและอาหารทะเลแปรรูปรายใหญ่ของไทยและเวียดนาม 2 ราย กล่าวเมื่อวันพุธ (28 ก.พ.) ถึงแนวโน้มธุรกิจประมงและอาหารทะเลในอนาคต คือการเน้นหลักบรรษัทภิบาลหรือการบริหารจัดการที่ดี และสวัสดิภาพชาวประมงและแรงงานตลอดซัพพลายเชน

ไทยยูเนี่ยนชูสวัสดิภาพแรงงาน-ความหลากหลาย

_dsc1409

นายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืน ภูมิภาคเอเชีย บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถึงสาเหตุที่ประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญในโลกยุคใหม่ว่า ภาครัฐและผู้บริโภคทั่วโลกต่างเล็งเห็นถึงคุณค่าของสวัสดิภาพแรงงาน และการโอบรับความแตกต่างตลอดสายการผลิต

ตัวแทนจากไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปรายนี้ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาบริษัทเปิดตัวนโยบายชื่อ SeaChange (ซีเชนจ์) ที่เน้นความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และแรงงาน ส่วนสิ่งที่ทำสำเร็จแล้วตามนโยบายดังกล่าว มีด้วยกันหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการตรวจสอบการปฏิบัติต่อแรงงานบนเรือประมง ซึ่งบริษัทมีการว่าจ้างให้กลุ่มหรือองค์กรจากภายนอกมาตรวจสอบว่ามีการใช้ความรุนแรงหรือละเมิดกับแรงงานประมงทั้งบนเรือและบนฝั่งหรือไม่ ซึ่งถ้าหากพบว่าไม่ได้มาตรฐานก็จะยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจกัน

นายปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า แรงงานส่วนใหญ่ของทั้งเรือประมงที่ส่งอาหารทะเลให้บริษัทและของบริษัทเองนั้น ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากเมียนมาและกัมพูชา ทำให้การจัดหาแรงงานเหล่านี้ต้องพึ่งพานายหน้าในท้องถิ่น ซึ่งหลายครั้งพบว่านายหน้าเหล่านี้เรียกค่าธรรมเนียมที่สูง แต่ปี 2565 บริษัทเริ่มนโยบายใหม่ ที่แรงงานที่มาทำงานให้กับบริษัทไม่ต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมใดๆ และกำลังขยายนโยบายนี้ไปใช้กับโรงงานของบริษัทในที่อื่นทั่วโลก

สวัสดิภาพอีกด้านหน้าที่ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เริ่มต้นแล้ว นายปราชญ์ เผยว่าคือการทำงานร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐ (เอ็นจีโอ) เพื่อส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานในบริษัท เพื่อให้เสียงของคนเหล่านี้ได้รับการสะท้อนออกมา เพราะถ้าไม่ทำเช่นนี้สมาชิกคณะกรรมการดังกล่าวก็จะกลายเป็นว่ามีแต่แรงงานคนไทย

ความหลากหลายที่ว่ามาไม่ใช่เฉพาะเรื่องเชื้อชาติเท่านั้น แต่ตัวแทนของไทยยูเนี่ยนรายนี้ เผยว่ายังให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศด้วย เพราะในโรงงานก็มีผู้หญิงจำนวนมาก ดังนั้นสถานที่ทำงานจะต้องปลอดการเลือกปฏิบัติ ขณะเดียวกันก็ต้องสนับสนุนผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ เรื่อยไปถึงการทำโครงการสนับสนุนบุตรของแรงงานที่อาศัยในต่างถิ่นหรือประเทศต้นทางกับปู่ย่าตายาย

มิญฟู้เน้นสิ่งแวดล้อม-ความเป็นธรรม

_dsc1324

นายเลิม ไท้ เซวียน ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านการตลาด (ซีเอ็มโอ) มิญฟู้ บริษัทแปรรูปอาหารทะเลรายใหญ่จากเวียดนาม กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้นได้รับการรับรองที่มีชื่อเสียงถึง 6 มาตรฐาน ซึ่งมี อียู ออร์แกนิก และแคนาดา ออร์แกนิก รวมอยู่ด้วย ซึ่งสะท้อนหลักการดำเนินงานด้วยความเป็นธรรมและการใส่ใจเกี่ยวกับคุณภาพอาหารทะเลแปรรูปของบริษัทได้เป็นอย่างดี

ตัวแทนจากมิญฟู้รายนี้ พูดต่อไปว่า ที่ผ่านมาบริษัททำงานกับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจำนวนมาก เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตกุ้งและให้เงินทุนคนเหล่านี้ในการเพิ่มคุณภาพ เพราะปกติแล้วฟาร์มกุ้งในเวียดนามเป็นฟาร์มขนาดเล็ก ทั้งยังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านราคาในตลาดและการคงคุณภาพของการเลี้ยงกุ้งแก่เกษตรกรและสหกรณ์ต่างๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม นายเลิม ไท้ เซวียน กล่าวว่า การเลี้ยงกุ้งเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสียปริมาณมาก ดังนั้นเพื่อคงคุณภาพของการทำธุรกิจ บริษัทจึงทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการช่วยเกษตรกรปรับปรุงวิธีการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

"การเลี้ยงกุ้งไม่ได้พูดถึงแค่การเลี้ยงกุ้ง แต่เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและผู้ผลิตกุ้งด้วย" นายเลิม ไท้ เซวียน กล่าว

NGO ต้องจับมือธุรกิจแก้ปัญหา

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านงานนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม ที่เป็นผู้จัดการเสวนาดังกล่าวขึ้น มองว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจต่างๆ เริ่มเห็นถึงโจทย์ด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นหรือทำให้บรรลุเป้าหมาย เพราะแนวโน้มของตลาดกำลังมุ่งไปทางนั้น

"เรามีความรู้สึกว่าคือโจทย์เรื่องเศรษฐกิจและโอกาสของธุรกิจ โดยเฉพาะในประเทศและในเอเชียด้วย โจทย์ในหลายตลาดทั่วโลกมีความต้องการที่จะเห็นเรื่องของความยั่งยืนทางด้านความสังคมและทางสิ่งแวดล้อมนะครับ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเศรษฐกิจโลกผันผวน ของราคาแพงขึ้น มันจำเป็นที่จะต้องมีตัว Identity ของผลิตภัณฑ์ที่มีความชัดเจนและตอบโจทย์ผู้บริโภคในหลายที่" นายจักรชัย กล่าว

ตัวแทนผู้จัดงานเสวนารายนี้ ยังกล่าวถึงการดึงภาคธุรกิจมาเป็นหุ้นส่วนในการหาทางออกที่ดีต่อทั้งแรงงาน สิ่งแวดล้อม และต่อตัวธุรกิจเองนั้น เป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีกว่าสำหรับทุกฝ่าย และจะช่วยให้ตอบโจทย์ใหม่ๆ ที่ท้าทายได้ตรงจุด

"แต่เดิมเนี่ยเราเคยมองว่าภาคประชาสังคมก็ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ภาคธุรกิจอย่างเดียว ซึ่งถามว่ามีประโยชน์มั้ย ในวงก็ไม่ได้มีใครปฏิเสธนะ ก็โอเค ทำแบบนั้นก็ดี ก็จะได้ตรวจสอบกัน แต่ในขณะเดียวกันเนี่ย มันจะต้องช่วยกันในเรื่องของทางออกด้วย"

"เพราะเรามองว่าถึงที่สุดแล้วเนี่ย ภาคประชาสังคม NGO กับภาคธุรกิจเนี่ย มันจำเป็นจะต้องมีบทสนทนากัน คือต้องมีการปฏิสัมพันธ์แบบที่ Critical นะ แบบที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่มันต้องสร้างสรรค์ ต้อง Constructive ต้องมีทางออก เพราะไม่งั้นด่าอย่างเดียว ไม่มีทางออก บางทีเลือกทางออกไม่ถูกทางก็เป็นไปได้"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook