คลัง-ธปท. มองวิกฤต SVB กระทบแค่ความเชื่อมั่น ไม่พบธุรกรรมเชื่อมโยงแบงก์-กองทุนไทย

คลัง-ธปท. มองวิกฤต SVB กระทบแค่ความเชื่อมั่น ไม่พบธุรกรรมเชื่อมโยงแบงก์-กองทุนไทย

คลัง-ธปท. มองวิกฤต SVB กระทบแค่ความเชื่อมั่น ไม่พบธุรกรรมเชื่อมโยงแบงก์-กองทุนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐฯ ถูกสั่งปิด รวมถึงธนาคาร Signature Bank ที่ถูกสั่งปิดด้วยเช่นกันว่า กระทรวงการคลัง ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันต้องรอฟังข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทำหน้าที่ติดตามเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ยืนยันมาตลอดว่าเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินไทยมีความมั่นคงแข็งแรง ยังได้รับความน่าเชื่อถืออยู่

“จากที่ติดตามสถานการณ์เบื้องต้น มองว่าน่าจะมีผลกระทบกับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากกว่า ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ คงต้องรอทาง ธปท. อีกครั้ง ว่าจะมีผลกระทบอะไรกับสถาบันการเงินของไทยหรือไม่” นายอาคม ระบุ

ส่วนตลาดพันธบัตรในขณะนี้ มองว่าเป็นไปตามภาวะตลาด แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ 2 ธนาคาร มีผลกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้นักลงทุนตกใจ ซึ่งสะท้อนจากดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลง และเมื่อกระทบกับความเชื่อมั่น ก็จะมีผลทำให้ต้นทุนในเรื่องของความเสี่ยงต่าง ๆ เพิ่มขึ้นด้วย นอกเหนือไปจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แล้ว ก็ยังมีประเด็นเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงของธนาคารในสหรัฐฯ อีกด้วย

“เท่าที่ติดตามดูตอนนี้ จะมีกระทบแค่ตลาดหุ้น โดยเฉพาะบรรยากาศการลงทุน จากความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่อยากให้ดูอย่างดาวน์โจนส์ หลังจากที่มีการประกาศเรื่องความชัดเจนของภาระต่าง ๆ ในประเด็นที่เกิดขึ้น หุ้นก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่เคสอย่างนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยวิกฤติฟองสบู่ของเรา แต่ของสหรัฐฯ ในรอบนี้ขนาดใหญ่กว่า จำนวนธนาคารในสหรัฐก็เยอะมาก เรื่องที่เกิดเข้าใจว่าเป็นปัญหาเรื่องของการขาดสภาพคล่องของทั้ง 2 ธนาคาร ซึ่งก็ถูกต้องแล้วที่ทางการเขาจะดำเนินการอย่างนี้ ซึ่งหลักการของเขาก็จะคล้ายกับของเรา คือ ต้องไม่เป็นภาระประชาชน” นายอาคม กล่าว

พร้อมระบุว่า เบื้องต้นทราบว่าสถาบันการเงินหรือกองทุนต่าง ๆ ของไทย เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ไม่ได้มีธุรกรรมกับ 2 ธนาคารดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และไม่ส่งผลกับระบบการเงินของไทย

ส่วนเรื่องการคุ้มครองเงินฝาก ขณะนี้สหรัฐฯ ได้ดำเนินการเช่นเดียวกับที่ไทยได้ทำเมื่อปี 2540 ซึ่งมีการคุ้มครองในระดับจำนวนหนึ่ง แต่ของไทยนั้นการคุ้มครองเมื่อถึงจุดหนึ่งที่หมดความจำเป็น ก็ปรับลดลงมาจนอยู่ในระดับปัจจุบัน ซึ่งเรื่องการคุ้มครองเงินฝากเราทำมาก่อนแล้ว ส่วนเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อของไทยนั้น ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณา โดยจะมีการรายงานข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบด้วย

“อย่าไปพูดว่าเราไม่กังวล แต่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ติดตามอยู่ และก็ได้ประสานกับผู้ว่าการ ธปท. อยู่แล้ว ส่วนที่ว่าจะเป็นจะต้องตั้งทีมพิเศษเพื่อติดตามเรื่องนี้หรือไม่นั้น เชื่อมั่นว่า ธปท. ก็เพียงพออยู่แล้ว” นายอาคม กล่าว

ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์ในไทย ผลกระทบจากกรณี SVB ต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากไม่มี ธนาคารพาณิชย์ของไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่ม ธนาคารพาณิชย์ของไทยใน Fintech และ Startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า 1 % ของเงินกองทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่สำคัญพบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่กลุ่มธุรกิจของ ธนาคารพาณิชย์ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับต่ำที่ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่ง ธปท. ขอย้ำว่ามีการกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและ venture capital ที่เข้มงวด เช่น การให้หักเงินลงทุนในเหรียญออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 (CET1) ในทุกกรณี รวมทั้งกำหนดเพดานการลงทุนและการกำกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่อเงินฝากของประชาชน

ด้านค่าเงินบาท ล่าสุดปรับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ภายหลังนักลงทุนคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ข้างต้นจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงเร็ว ซึ่งความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐฯ จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะถัดไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook