ธนาคารไทยพาณิชย์ มองแบงก์สหรัฐ-ยุโรป ล้ม ไม่ลามเหมือนวิกฤตการเงินปี 2008
นาย.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุ เศรษฐกิจโลกในปี 2023 มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่เคยประเมินไว้ จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกเพิ่มจาก 1.8% เป็น 2.3% เนื่องจากข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาดและจีนเปิดประเทศเร็วขึ้น โดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงเศรษฐกิจถดถอยได้ สำหรับเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่งจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนหลังกลับมาเปิดประเทศในรอบสามปี
นอกจากนี้ สถานการณ์ Silicon Valley Bank ในสหรัฐฯ ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องและถูกปิดลงคาดว่าจะมีแนวโน้มทำให้สภาพคล่องและความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกปรับลดลงเล็กน้อยในระยะสั้น ความเสี่ยงที่จะลุกลามจนเกิดวิกฤตการเงินโลกเหมือนในปี 2008 ยังมีน้อย แต่มองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด เช่นเดียวกับความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจกระทบเศรษฐกิจ การค้า และห่วงโซ่อุปทานโลกได้
ภาพรวมเงินเฟ้อทั่วไปของโลกมีแนวโน้มต่ำลงตามราคาพลังงานโลกที่ปรับลดลง แต่เงินเฟ้อพื้นฐานที่ธนาคารกลางให้ความสำคัญมีแนวโน้มชะลอลงได้ช้ากว่า จากตัวเลขการจ้างงานที่ยังแข็งแกร่งช่วยสนับสนุนรายได้แรงงาน และการใช้จ่ายได้ดี ธนาคารกลางจึงมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้นกว่าระดับที่เคยคาดไว้ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.25-5.5% (เดิมคาด 5.0-5.25%) เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรปที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 3.75% (เดิมคาด 3.25%) อย่างไรก็ตาม ขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้จะลดลงจากปีก่อนมาก ภาวะทางการเงินโลกจะตึงตัวขึ้นอีกไม่มากนัก
สำหรับมุมมองเศรษฐกิจไทย ดร.สมประวิณ มองว่า เศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องการท่องเที่ยวและการบริโภคจะเป็นฟันเฟืองหลักช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยให้ภาคธุรกิจใน Tourism ecosystem ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนค่อนข้างสูง รวมถึงตลาดแรงงานไทยฟื้นตัวกลับมาใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 แล้ว ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแรงงานที่กลับเข้ามาทำงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการมากขึ้น ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานในภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี นายสมประวิณ มองว่า “เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญ คือ (1) ปัญหา Geopolitics รุนแรงขึ้นอาจกระทบ Global supply chain และการส่งออกไทย (2) นโยบายการเงินโลกตึงตัวแรงขึ้นจากเงินเฟ้อโลกลดลงช้า (3) หนี้ครัวเรือนกลับมาเร่งตัวส่งผลกดดันการบริโภค (4) ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจกระทบความเชื่อมั่นในการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐในระยะข้างหน้าได้ รวมถึงความเสี่ยงใหม่จากวิกฤตเสถียรภาพระบบการเงินโลก ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องติดตามใกล้ชิด โอกาสที่จะลุกลามจนเกิดวิกฤตการเงินโลกยังมีน้อย ตราบใดที่ธนาคารกลางให้ความมั่นใจได้ว่าสามารถให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องได้เพียงพอและทันการณ์ ทำให้ความเชื่อมั่นในเสถียรภาพระบบธนาคารทั่วโลกยังเข้มแข็งอยู่
ด้าน น.ส.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน Economic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า ในกรณีที่สถานการณ์ลุกลามจนเป็นวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย และเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ EMs จะได้รับผลกระทบรุนแรงตามไปด้วยผ่าน 4 ช่องทาง คือ การส่งออกแย่ลง เงินทุนไหลออกไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ภาวะการเงินในประเทศตึงตัว นโยบายการเงินของกลุ่มประเทศ EMs ที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศอ่อนแอ จะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อพยุงค่าเงิน
เศรษฐกิจไทย อาจได้รับผลกระทบผ่านการส่งออก และภาวะการเงินตึงตัว ตลาดการเงินไทยอาจเผชิญความผันผวนสูงตามทิศทางตลาดการเงินโลก ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงตามเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงเช่นในอดีต
ทั้งนี้ ตลาดการเงินไทยมีความแข็งแกร่ง แม้ต้องเผชิญความผันผวนสูงในช่วงวิกฤตการเงินที่ผ่านมาหลายครั้ง ความผันผวนของภาวะการเงินไทยโดยรวมไม่ได้ส่งผลต่อระดับความตึงตัวของภาวะการเงินมากนัก ผลกระทบผ่านช่องทางตลาดทุนต่อความมั่งคั่งของครัวเรือนในภาพรวมมีจำกัด
ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลกดดันการบริโภคในระยะต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง สอดคล้องกับผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey ล่าสุดที่ชี้ว่าปัญหารายได้โตไม่ทันรายจ่ายเพิ่มขึ้นมากในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ลูกหนี้หน้าใหม่เพิ่มขึ้นมากตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 และมีแนวโน้มจะกู้ยืมมากขึ้นในอนาคตเพื่อใช้ชำระหนี้เก่าเป็นหลัก นอกจากนี้ ลูกหนี้เงินกู้นอกระบบยังน่าเป็นห่วงจากแนวโน้มก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้น
สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ในปี 66 ถือว่าเป็นประเด็นที่ต้องติดตามเช่นกัน เพราะอาจกระทบการใช้จ่ายภาครัฐได้ ทั้งนี้ขึ้นกับความเร็วในการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี 67 ของรัฐบาลชุดใหม่ โดยในกรณีฐาน SCB EIC มองว่า การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่กระทบการใช้จ่ายภาครัฐในปี 66 เท่าไรนัก เพราะรัฐบาลปัจจุบันได้เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนไว้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 66 สูงกว่าปีงบประมาณที่ผ่าน ๆ มา รวมถึงได้เร่งอนุมัติโครงการก่อสร้างภาครัฐใหม่ คาดว่าอัตราเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้รัฐบาลรักษาการและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่จะต่ำลงบ้าง และ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 67 จะประกาศใช้ล่าช้าไม่เกิน 3 เดือน แต่หากมีความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลให้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 67 ประกาศใช้ล่าช้ากว่ากรณีฐาน อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงปีนี้และปีหน้าได้ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ
SCB EIC คาดว่า ในกรณีฐาน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย จะทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี สู่ระดับ 2% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และเงินเฟ้อไทยจะยังไม่ปรับลดลงเร็วนัก
ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น การทยอยสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน จะทำให้ภาวะการเงินไทยมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่จะปรับแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้ จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็งขึ้น และเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะกลับมาอ่อนค่า โดยเฉพาะหลังจากเฟดเริ่มหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี