NIA เปิดบทบาท “ผู้นำประเทศคนใหม่” จุดประเด็น 3C ตัวบ่งชี้อนาคตประเทศไทย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พาเปิดบทบาทผู้นำประเทศคนใหม่กับการนำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนประเทศ พร้อมถอดบทเรียนจากผู้นำประเทศชั้นนำทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จ จากการนำนโยบายเชิงนวัตกรรมมาเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน จนได้รับชัยชนะและมีโอกาสได้เข้าไปพัฒนาประเทศตามเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังเผยนโยบายด้านนวัตกรรมกับการแก้ไขปัญหาของไทยตามแนวคิด 3C “Competitiveness - Corruption - Climate Change” ที่ผู้นำจำเป็นต้องนำนวัตกรรมมาเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลง
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา “นโยบายด้านนวัตกรรม” เป็นประเด็นที่นักการเมืองหลายประเทศทั่วโลกในความสนใจ ซึ่งนโยบายนี้มีส่วนสัมพันธ์กับทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ การสร้างความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการ การเพิ่มรายได้มวลรวม รวมถึงการสร้างชาติให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลายประเทศชั้นนำ ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย ล่วนได้รับการยอมรับจากการมีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่สูง มีแบรนด์นวัตกรรมที่มีชื่อเสียง รวมทั้งเพิ่มและสร้างมูลค่าใหม่ให้กับคนในประเทศด้วยอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ
“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของนโยบายนวัตกรรม เช่น จีนที่ทำอุตสาหกรรมส่งออกควบคู่กับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ญี่ปุ่นก็มีนโยบายนี้มาตั้งแต่ก่อนแพ้สงคราม และในปีที่ผ่านมาก็ได้ออกมาประกาศแนวทางฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการส่งเสริมด้านนวัตกรรมของภาคเอกชนมากกว่าเน้นนโยบายด้านการเงิน สิงคโปร์มีนโยบายนวัตกรรมผ่านกระทรวงการคลังอย่างชัดเจนว่าจะทำนวัตกรรมอะไรในแต่ละปี เกาหลีกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งประสบความสำเร็จร่วมกับอินโดนีเซียในการทำเครื่องบินรบลำใหม่ เช่นเดียวกับตุรเคีย ที่มีการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมและนวัตกรรมค่อนข้างรวดเร็ว เพราะมีผู้นำที่เข้มแข็ง จนทหารไม่สามารถรัฐประหารได้ ส่วนอินเดียก็ต่อเรือบรรทุกเครื่องบินสำเร็จเป็นครั้งแรก จากนโยบายของรัฐบาล”
ประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา มีนโยบายมุ่งเน้นสร้างการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมด้านอุตสาหกรรมอาหารและภาคการเกษตร หรือ BCG ซึ่งมีบริษัทของไทยที่นำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเชิงลึกมมาขับเคลื่อนอุตสาหกรรม แต่องค์กรเหล่านี้อาจยังไม่สามารถสะท้อนความเป็นชาติแห่งนวัตกรรมของไทยได้ทั้งหมด ไทยยังต้องเร่งสร้างแบรนด์ระดับโลกที่ทำด้านนวัตกรรม และนโยบายทางการเมืองต้องมุ่งเน้นสิ่งนี้ให้มากขึ้น
“แม้ประเทศไทยจะมีบริษัทขนาดใหญ่ด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่เติบโตในระดับโลก แต่เรายังไม่ประสบความสำเร็จในการจำรึกว่าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกที่ทำนวัตกรรมด้านเกษตรและอาหาร แต่กลับถูกจารึกว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก ต่างจากสวิตเซอร์แลนด์ ที่แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่กลับขายซอสแม็กกี้ไปทั่วโลก นี่คือศักยภาพของการสร้างอาณาจักรธุรกิจด้วยนวัตกรรม หลายประเทศทำแบบนี้ คืออะไรที่เด่นอยู่แล้วต้องผลักดันให้เด่นระดับโลก เอาเรื่องเด่นมาสู่เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน หรือ Competitiveness”
การคอรัปชั่น (Corruption) ก็เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่คนไทยให้ความสนใจ เนื่องจากสังคมมองว่าคนจนเพราะถูกคอรัปชั่น ดังนั้น นโยบายเชิงนวัตกรรมต้องแก้ปัญหาคอรัปชั่นและตอบคำถามเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลได้ ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้ขาดฝั่งผู้สร้างนวัตกรรม เพราะถ้าดูจาก Global Innovation Index (GII) จะเห็นว่าอัตราส่วนการลงทุนเรื่องวิจัยและนวัตกรรมโดยภาคเอกชนของไทย ติดอันกับ 1 ของโลก หรือเอกชนลงมากกว่ารัฐ ดังนั้น อย่าบอกว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่รอด มันรอดอยู่แล้ว แต่รอดในมือของบริษัทขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญ ปัญหา Climate change เป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน แต่ไกลตัวจากมุมที่ว่าจะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างไร
“ในฐานะของหน่วยงานเพื่อการส่งเสริมระบบนวัตกรรมแห่งชาติ อยากเห็นการนำเสนอนโยบายที่นำนวัตกรรมเป็นตัวตั้งอย่างแท้จริง อยากเห็นแคนดิเดต Innovation Minister ที่ไม่ใช่ทีมเศรษฐกิจทั่วไป มาแสดงจุดยืนและเจตนารมณ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอีกวสระสำคัญระดับชาติ อยากให้แต่ละพรรคลองสมมติบทบาทเสมือนว่าเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนวัตกรรม แล้วลองดูว่าระบบที่มีอยู่เวิร์คหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไร รวมถึงหากเข้ามาในสภาได้แล้วอีก 4 ปี จะเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยนวัตกรรมอย่างไร หรือจะให้นวัตกรรมช่วยขับเคลื่อนประเทศไปอยู่อันดับไหนของโลก”