"มูเตลู" มูลค่าหมื่นล้าน กับการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา

"มูเตลู" มูลค่าหมื่นล้าน กับการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา

"มูเตลู" มูลค่าหมื่นล้าน กับการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทำความรู้จัก ท่องเที่ยวสายมูเตลู โอกาสทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากถึง 10,800 ล้านบาท

คำว่า “มูเตลู” ถูกนำมาใช้แทนความเชื่อความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนไทย ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความเชื่อทางศาสนา แต่ยังผสมผสานกับสิ่งเร้นลับทางธรรมชาติ โหราศาสตร์ ตลอดจนวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลังต่างๆ

การท่องเที่ยวมูฯ อาจเทียบได้กับ “การท่องเที่ยวเชิงศรัทธา” ของต่างประเทศ และมีความหมายครอบคลุมถึงการท่องเที่ยวสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ การแสวงบุญ และการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ

รายงานของ Future Markets Insight พบว่า การท่องเที่ยวเชิงศรัทธาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกถึง 13.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 และจะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าภายใน 10 ปี สำหรับประเทศไทยมูลค่าการท่องเที่ยวสายมูฯ เฉพาะการแสวงบุญ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะมีรายได้หมุนเวียนมากถึง 10,800 ล้านบาท ซึ่งไทยไม่ได้มีเพียงการแสวงบุญเพียงอย่างเดียว ทรัพยากรการท่องเที่ยวมูฯ ยังมีอีกหลายรูปแบบ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ

  • มูเตลูที่เป็นสถานที่ อาทิ วัด ศาลเจ้าและเทวสถาน และรูปจำลองสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างรูปปั้นไอ้ไข่
  • มูเตลูที่ไม่ใช่สถานที่ อาทิ เครื่องรางของขลัง พิธีกรรม และการสักยันต์ของไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก

ความหลากหลายของทรัพยากรสายมูฯ ของไทยสะท้อนการมีพหุวัฒนธรรมซึ่งผสมผสานวัฒนธรรมทางศาสนา และความเชื่อของคนไทย และกลายเป็น soft power ที่สามารถใช้ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ แต่ต้องมีการส่งเสริมที่เหมาะสม คือ

  1. กำหนดนโยบาย/แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ชัดเจนของภาครัฐ ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ อาทิ ฮ่องกงมีนโยบายส่งเสริม “วิถีการท่องเที่ยวแบบศาสนา” ที่มีจุดมุ่งหมายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก
  2. พัฒนากลยุทธ์การตลาดมูฯ ด้วยการสร้าง Branding ที่ครอบคลุมทั้งสถานที่ บุคคล และกิจกรรมสายมูฯ โดยไทยจำเป็นต้องสร้าง Branding ผ่านการจัดทำเรื่องราว (Story) ที่มีความเป็นมาและคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับ รวมทั้งอาจสอดแทรกวัฒนธรรมที่อิงกับมูฯ ในสื่อต่างๆ เพื่อเผยแพร่ให้คนต่างชาติสนใจมากขึ้น และ
  3. บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มีเอกภาพมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมบทบาทองค์กรส่วนท้องถิ่นให้เป็นหน่วยขับเคลื่อนหลักในการดึงภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามาพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ให้มีมาตรฐานมีความหลากหลายและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ ประเด็นเกี่ยวกับความเชื่อและศาสนามีความละเอียดอ่อน ดังนั้น การดำเนินนโยบายจึงต้องมีความระมัดระวัง และควรมีการศึกษาด้วยหลักความเชื่อที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงและบิดเบือนความเชื่อ ควบคู่กับมีมาตรการกำกับดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสหลอกลวงนักท่องเที่ยวโดยใช้ความเชื่อเป็นเครื่องมือ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook