ยืมเงินไม่คืน มีความผิดหรือเปล่า แจ้งความได้มั้ย?
เคลียร์ให้ชัดกับปัญหาโลกแตก ยืมเงินแล้วไม่คืน จะมีความผิดหรือไม่ แจ้งความได้หรือเปล่า ยื่นฟ้องศาลได้ไหมเช็กเลย
เรื่องยืมเงินแล้วไม่คืน ถือเป็นปัญหาโลกแตกของคนที่ให้ยืมเงิน เพราะต่อให้ทวงถามไปเท่าไหร่ ผู้ยืมก็อาจจะบ่ายเบี่ยง หรือขอเลื่อนคืนเงินในวันถัดไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ไม่ได้เงินคืนอยู่ดี กรณีแบบนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร แจ้งความได้หรือไม่ Sanook Money มีข้อมูลดีๆ มาฝากกัน
ยืมเงินแล้วไม่คืน แจ้งความได้หรือไม่?
ตำรวจไม่รับแจ้งความเพื่อดำเนินคดี เพราะเป็นการทำผิดสัญญากู้ยืมเป็นคดีแพ่งที่ตำรวจไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุม ทำได้แค่ช่วยลงบันทึกประจำวันให้เป็นหลักฐานในการนำไปดำเนินคดีทางแพ่งเอง
ยืมเงินแล้วไม่คืน ฟ้องศาลได้หรือไม่?
สามารถฟ้องศาลเพื่อเรียกเงินคืนจากลูกหนี้ได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า การกู้ยืมเงิน 2,000 บาทขึ้นไป จะต้องมีสัญญาการกู้ยืมจึงจะสามารถฟ้องศาลได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กรณี
- กรณีมีสัญญาการยืมเงิน ผู้ให้กู้ต้องมีหนังสือสัญญากู้ยืมที่ระบุ สัญญาได้ทำขึ้นที่ไหน วัน-เวลาในการทำสัญญา รายละเอียดของผู้ให้กู้ และผู้กู้ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ รวมทั้งจำนวนเงินที่ยืม กำหนดชำระคืน และลงลายมือชื่อของผู้กู้
- กรณีไม่มีสัญญาการยืมเงิน ผู้ให้กู้สามารถใช้หลักฐานการ Chat ฟ้องศาลได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ต้องมีหลักฐานเป็นข้อความการสนทนาขอกู้ยืมเงินผ่านบริการแชตที่มีระบบปลอดภัยและเชื่อถือได้ เช่น Facebook, LINE และมีข้อความที่ระบุว่าใครเป็นผู้ขอยืม จำนวนเงินที่ยืม และจะใช้คืนเมื่อไหร่
นอกจากนี้ ต้องมีชื่อบัญชีผู้ใช้ ชื่อจริง บัญชีธนาคารของผู้กู้ยืม และสลิปหลักฐานการโอนเงินที่ระบุวันเวลาที่โอนเงิน ต้องเก็บหลักฐานไว้ทันทีที่มีการกู้ยืมเงิน รักษาข้อมูลให้อยู่ในสภาพเดิม ไม่มีการตัดต่อแก้ไขวันที่ หรือเวลารับ-ส่งข้อความกัน
ยืมเงินไม่เกิน 2,000 บาท สามารฟ้องศาลได้หรือไม่?
กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องทำหลักฐานการกู้ยืมต่อกัน ถึงจะตกลงด้วยวาจา แต่ถ้าผิดข้อตกลง หรือผิดสัญญาผู้ให้กู้สามารถฟ้องศาลได้ตามกฎหมาย แต่ก็อาจต้องมองถึงจำนวนเงินที่ให้ยืมไปด้วยว่าคุ้มที่จะฟ้องหรือเปล่า เพราะการฟ้องต้องมีค่าทนายและค่าใช้จ่ายต่างๆ ถ้าเงินที่ให้กู้ยืมไปเป็นจำนวนน้อย เจ้าหนี้ก็อาจไม่คุ้มที่จะฟ้อง
ยืมเงินแล้วไม่คืน ผิดกฎหมายข้อไหนบ้าง?
ยืมเงินแล้วไม่คืนจะเข้าข่ายผิดสัญญาทางแพ่ง ตามมาตรา 213 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เจ้าหนี้สามารถยื่นฟ้องต่อศาลให้มีคำสั่งบังคับให้ลูกหนี้คืนเงินให้ได้ ในกรณีที่มีการฟ้องร้องต่อศาลเกิดขึ้นแล้ว แต่ลูกหนี้ยังไม่ยอมชำระเงินคืนตามตกลง อีกทั้งยังมีพฤติกรรมซุกซ่อน ขายทรัพย์สิน หรือโอนย้ายทรัพย์สินของตัวเองไปให้บุคคลอื่น เพื่อเลี่ยงการจ่ายหนี้ อาจมีความผิดฐานทางอาญา มาตรา 350 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ยืมเงินแล้วไม่คืน มีอายุความกี่ปี?
การฟ้องศาลเพื่อเรียกเงินคืนตามสัญญากู้ยืมจะมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่ถึงกำหนดชำระเงินกู้ยืมคืน แต่หากในสัญญากู้ยืมมีการตกลงกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยแบบเป็นงวดๆ กรณีนี้จะมีอายุความเพียง 5 ปี
หากฟ้องศาลแล้วจะมีการกระบวนการอย่างไร?
การฟ้องศาลอาจมีการเจรจาประนอมหนี้ เช่น ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้เป็นเงินก้อน แต่ลูกหนี้เจรจาขอผ่อนชำระ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ว่าจะยอมหรือไม่ หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะไม่มีเงินมากพอที่จะชำระ เจ้าหนี้จะต้องไปสืบทรัพย์เองว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์อะไรบ้าง อาศัยอยู่ที่ไหน และทำงานที่ไหน เพื่อยื่นศาลให้ทำการยึดทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน แล้วนำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ในกรณีที่เป็นเงินเดือน รายได้ต่างๆ จะถูกอายัดได้บางส่วนตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้ลูกหนี้ยังเหลือเงินไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน