เปิดรายได้ธุรกิจ "นมหนองโพ" หลัง ลิซ่า BLACKPINK โพสต์ลงไอจี
เปิดรายได้ นมหนองโพ กับประวัติที่น่าสนใจ หลัง ลิซ่า BLACKPINK เจ้าแม่ Sold Out โพสต์ลงไอจี
เมื่อเอ่ยถึง นมถุงหนองโพ หรือนมปรุงแต่งพาสเจอร์ไรส์ เชื่อว่าหลายๆ คนจะพอจำรสชาติในช่วงที่ยังเป็นเด็กนักเรียนได้เป็นอย่างดี และตอนนี้ กระแสนมหนองโพ กลับมาฮอตอีกครั้ง เมื่อ ลิซ่า ลลิษา มโนบาล หนึ่งในสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป BLACKPINK จากเกาหลีใต้ เจ้าแม่ Sold Out ได้อัป IG Story ส่วนตัวพร้อมกับนมถุงหนองโพ โดยระบุแคปชั่นว่า "วัยเด็กต้องนี่เลย" สร้างความฮือฮาบนโลกโซเชียลอย่างมาก
สำหรับ นมถุงหนองโพ เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์จากนมของ สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) โดยจุดเริ่มต้นของสหกรณ์โคนมหนองโพ เกิดขึ้นเมื่อปี 2511 เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม จังหวัดราชบุรี ประสบปัญหาสถานที่จำหน่ายน้ำนมดิบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่น้ำนมดิบและประสบภาวะการณ์ขาดทุนในการประกอบอาชีพ บรรดาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม นำโดย ผู้ใหญ่ใช้ จันทร์ภิวัฒน์ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และถวายฎีกาปัญหาเกี่ยวกับความเดือดร้อนที่ไม่มีตลาดจำหน่ายน้ำนมดิบ เมื่อความได้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานเพื่อแปรรูปน้ำนมดิบขึ้นที่บริเวณภายในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ต่อมาจึงมีพระราชดำริให้มีการสร้างโรงงานเพื่อแปรรูปน้ำนมดิบที่ตำบลหนองโพ
กระทั่งเมื่อปี 2513 นายทวิช กลิ่นประทุม (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้น) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพื่อเตรียมดำเนินการจัดตั้งโรงงานนมหนองโพ และจัดซื้อที่ดินบริเวณตำบลหนองโพจำนวน 50 ไร่ เพื่อเป็นที่ตั้งโรงงานนมหนองโพ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดตั้งคณะกรรมการการสร้างโรงงานขึ้น โดยพระราชทาน พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพิ่มจากเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย
ต่อมาปี 2514 คณะกรรมการ “ศูนย์รวมนม” และกลุ่มสมาชิกได้จัดให้มีการประชุมขึ้นและมีมติเอกฉันท์ จึงได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์โคนม เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2514 โดยใช้ชื่อว่า “สหกรณ์โคนมราชบุรี จำกัด” เป็นสหกรณ์ประเภทบริการ
ปี 2515 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงงานนมหนองโพ และทรงกำหนดให้ดำเนินการบริหารโรงงานในรูปของบริษัทจำกัด ใช้ชื่อ บริษัท ผลิตภัณฑ์นมหนองโพ จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) โดยมี ม.ล.เดช สนิทวงศ์ เป็นประธานกรรมการดำเนินการ และ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงถือหุ้นใหญ่ โดยได้พระราชทานเงื่อนไขไว้ด้วยว่าบรรดาเงินกำไรสุทธิที่บริษัทหาได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมนั้น ไม่มีการแบ่งกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นแต่ให้บริษัทนำกำไรสุทธิส่วนหนึ่งเข้ากองทุนสะสมเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของบุตรหลานสมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมและสมาชิกสหกรณ์ซึ่งเป็นผู้ส่งนมสดให้แก่โรงงานประจำ เมื่องานของสหกรณ์โคนมฯ เจริญก้าวหน้าตามวัตถุประสงค์สมาชิกสหกรณ์ต่างมีความเข้าใจในหลักสหกรณ์และมีหลักฐานมั่นคง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนทรัพย์สินทั้งหมดให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์ และดำเนินกิจการในรูปของสหกรณ์ต่อไปตามพระราชประสงค์
ปี 2520 สหกรณ์โคนมหนองโพฯ เริ่มขยายตลาดนมพาสเจอร์ไรส์มากขึ้น ตามปริมาณน้ำนมดิบที่รับเข้าต่อวัน
ปี 2523 สหกรณ์โคนมหนองโพฯได้ตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่ โดยติดตั้งเครื่องจักรผลิตนมระบบ ยู.เอช.ที (ULTRA HIGH TREATMENT MILK) การดำเนินกิจการของสหกรณ์โคนมหนองโพฯ เป็นไปด้วยความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
ปี 2529 สหกรณ์ได้ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีในการจัดให้มีการสัมมนาครูและอาจารย์จากโรงเรียนต่างๆ เฉพาะจากเขตภาคกลาง ตะวันตกจาก นครปฐม, และราชบุรี รวม 7 จังหวัด เพื่อเน้นการชี้แจงนโยบายด้านการรณรงค์เพื่อการบริโภคนมและโครงการนมโรงเรียน
ปี 2540 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มีงบประมาณให้ก่อสร้างตลาดกลางผลิตผลการเกษตร เพื่อรับซื้อวัตถุดิบของเกษตรกร และสหกรณ์ในจังหวัดราชบุรี เพื่อให้เกษตรกรนำวัตถุดิบมาขายเพื่อนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ในราคาถูกและคุณภาพดี
ปัจจุบัน ตลาดกลางผลิตผลการเกษตรได้ใช้เป็นร้านค้าจำหน่ายสินค้าการเกษตรให้แก่สมาชิกสหกรณ์ฯ และเป็นสำนักงานฝ่ายส่งเสริมการเลี้ยงโคนม
นอกจากนี้ สหรกรณ์โคนมหนองโพ ยังมีธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ร้านหนองโพคาเฟ่, ร้านแดรี่ฮัก, ร้านโครงการหลวง, ร้านค้าสหกรณ์, ศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงโคนม, สถานีบริการน้ำมัน, โรงงานผลิตอาหารสัตว์, สินเชื่อและออมทรัพย์ และสถานีวิทยุหนองโพ เป็นต้น
สำหรับผลิตภัณฑ์ "นมนมหนองโพ" ปัจจุบันมีจำหน่าย 5 แบบ ได้แก่
- UHT
- นมอัดเม็ด
- นมสดพาสเจอร์ไรส์
- โยเกิร์ต
- ไอศกรีม
สำหรับผลประกอบการสหกรณ์โคนมหนองโพ ในปีล่าสุด คือ ปี 2563 ตามที่สื่อหลายสำนักเคยรายงานไปก่อนหน้านี้ อยู่ที่ 2,600 ล้านบาท เป็นรายได้หลักจากผลิตภัณฑ์นมยูเอชทีและนมพาสเจอไรซ์ 1,300 ล้านบาท ส่วนที่เหลือมาจากร้านหนองโพ คาเฟ่ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ไอศกรีม โยเกิร์ต เป็นต้น