ครม. ไม่ต่ออายุมาตรการภาษีอุ้มดีเซล ห่วงภาระผูกพันรัฐบาลหน้า
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบแนวทางการดำเนินมาตรภาษีสรรพสามิตเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาดีเซล ซึ่งจากที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการทางภาษี เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 35 บาท ด้วยการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาทมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ก.พ.65 ซึ่งมาตรการดังกล่าว จะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.66 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราภาษีจะกลับสู่ระดับปกตินั้น
กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ได้หารือกันและมีความเห็นร่วมกันว่า การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล หลังจากมาตรการการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลจะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.66 จะเป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดผลผูกพันรัฐบาลในอนาคต ซึ่ง ครม.รักษาการ ไม่อาจกระทำการได้ เพราะจะมีผลต่อการสร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไป นอกจากนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกได้เริ่มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับก่อนโควิดแล้ว ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซล ณ โรงกลั่น ในประเทศลดลงตามไปด้วย
ดังนั้น ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในวิสัยที่กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถดำเนินการได้ และเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดด้านรายได้และข้อกฎหมายและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว เห็นสมควรให้ใช้มาตรการของกองทุนน้ำมันที่มีฐานะการเงินดีขึ้นโดยลำดับ ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซล โดยกระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน จะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดต่อไป
“แนวทางต่อไป ภายใต้รัฐบาลรักษาการ ซึ่งมีข้อจำกัดการใช้งบที่จะมีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดต่อไป ดังนั้น การใช้มาตรการภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ก็จะสิ้นสุดแค่ 20 ก.ค.นี้ และให้ใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันฯ ในการทำหน้าที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนต่อไป” น.ส.รัชดา กล่าว
โดยตั้งแต่ ก.พ. 65 จนถึงปัจจุบัน ครม. ได้อนุมัติออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตรวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ ประเมินการสูญเสียรายได้ภาษีราว 156,000 ล้านบาท
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้รายงานภาพรวมความสำเร็จของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน และตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร ว่าได้เสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค ลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ไม่ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อีกทั้งยังลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ผันผวนด้วย