ค่าเงินบาทวันนี้ 27 ก.ค. 66 เปิดที่ระดับ 34.21 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

ค่าเงินบาทวันนี้ 27 ก.ค. 66 เปิดที่ระดับ 34.21 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

ค่าเงินบาทวันนี้ 27 ก.ค. 66 เปิดที่ระดับ 34.21 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ค่าเงินบาทวันนี้ 27 ก.ค. 66 เปิดที่ระดับ 34.21 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดอยู่ที่ 33.80-34.40 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทวันนี้เปิดที่ระดับ 34.21 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนลักษณะ sideway down หรือทยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 34.16-34.32 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าหลุดแนวรับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ หลังตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด ซึ่งส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ก่อนที่จะเงินบาทจะกลับอ่อนค่าลงเล็กน้อย ในช่วงที่เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง หลังถ้อยแถลงประธานเฟดยังสะท้อนว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท มองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทในวันก่อนหน้า อาจเริ่มถูกชะลอลงด้วยท่าทีของผู้เล่นในตลาดที่ยังไม่มั่นใจว่า เฟดจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยได้จริงหรือไม่ (คงมุมมองเดิมว่า เฟดได้ขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายไปแล้วในการประชุมวันนี้) นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศก็จะยังคงส่งผลให้ นักลงทุนต่างชาติยังไม่กล้าเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง ทำให้เงินบาทยังขาดแรงหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือน เริ่มเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้นำเข้า ทำให้เงินบาทอาจไม่แข็งค่าหลุดโซนแนวรับสำคัญแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (หากแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวก็อาจแข็งค่าทดสอบระดับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์ได้)

อนึ่ง ควรระมัดระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB เพราะในช่วงนี้ ปัจจัยหนุนเงินยูโร (EUR) อย่าง ตลาดหุ้นยุโรปก็เริ่มส่งสัญญาณผันผวน/ย่อตัวลง ทำให้เงินยูโรจะแข็งค่าขึ้นต่อได้ ต้องอาศัยความชัดเจนของประธาน ECB ที่จะย้ำจุดยืนพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ทั้งนี้ เงินยูโรอาจพอได้แรงหนุนจากการรีบาลานซ์สถานะ hedging ของนักลงทุนสถาบัน รวมถึงแรงซื้อเงินยูโรของบรรดาบริษัทเอกชนในช่วงปลายเดือน ซึ่งอาจจะพอช่วยหนุนค่าเงินยูโรไม่ให้อ่อนค่าแรง หาก ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจน พร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ

คงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.30 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม ECB และคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.80-34.40 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก กดดันโดยแรงขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Microsoft -3.4% หลังผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัท นอกจากนี้ ท่าทีของประธานเฟดที่แบ่งรับแบ่งสู้ในประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าฟันธงว่าเฟดจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย (จาก CME FedWatch Tool ตลาดยังให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งราว 36%) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.02%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาลดลง -0.53% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH -5.2%, Dior -4.0%) หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่าผลประกอบการของบริษัทกลุ่มดังกล่าวอาจออกมาไม่สดใสนัก นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากความกังวลต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุม ECB ในวันนี้

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก แต่ท่าทีของประธานเฟดที่ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า เฟดพร้อมหยุดการขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงท่าทีของผู้เล่นในตลาดที่ต่างรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางหลักอื่นๆ ทั้ง ECB และ BOJ ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 3.88% อีกครั้ง (แกว่งตัวในกรอบ 3.85%-3.91% ในช่วงคืนก่อนหน้า) ทั้งนี้ คงแนะนำให้ นักลงทุนรอจังหวะบอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น เพื่อทยอยเข้าซื้อ หลังสัญญาณเศรษฐกิจของบรรดาประเทศหลักๆ ต่างสะท้อนภาพเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากขึ้น และทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางก็ใกล้ถึงจุดจบดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นแล้ว

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย +25bps ตามคาด สู่ระดับ 5.25-5.50% ทำให้เงินดอลลาร์เผชิญแรงขายลักษณะ sell on fact อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นมาได้บ้าง หลังประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ หากข้อมูลเศรษฐกิจ/ตลาดการเงิน สะท้อนถึงความจำเป็นในการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 101 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 100.9-101.3 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าฟันธงว่าบรรดาธนาคารกลางจะถึงจุดจบรอบการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งสะท้อนผ่านการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในลักษณะ sideway/sideway down (สำหรับเงินดอลลาร์) ทำให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,972 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ทั้งนี้ มองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุม ECB ซึ่งหากไม่มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย และบอนด์ยีลด์ระยะยาวเริ่มปรับตัวลดลง ภาพดังกล่าวก็อาจหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยมองว่า ECB จะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) +25bps สู่ระดับ 3.75% ทั้งนี้ ตลาดจะรอลุ้นว่า ECB จะส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า พร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือไม่ในการประชุมครั้งถัดไป หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงมาก แม้ว่าจะชะลอลงต่อเนื่องก็ตาม

ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 รวมถึงรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และนอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ในช่วงนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook