พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อไทยเดือน ก.ค. 66 แตะ 0.38%

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อไทยเดือน ก.ค. 66 แตะ 0.38%

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อไทยเดือน ก.ค. 66 แตะ 0.38%
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือน ก.ค. 66 เพิ่มขึ้น 0.38% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 0.64-0.66%

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เนื่องจากการชะลอตัวของสินค้าในหมวดอาหาร เช่น เนื้อหมู และเครื่องประกอบอาหารที่มีราคาลดลง และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือน ก.ค. ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.66) เพิ่มขึ้น 2.19%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐาน ในเดือน ก.ค.66 เพิ่มขึ้น 0.86% ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1.73%

กระทรวงพาณิชย์ จับตาปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งนี้ ประเมินว่าในช่วง 4-5 เดือนที่เหลือของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไม่เกินเดือนละ 1%

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ จะมีการทบทวนอัตราเงินเฟ้อของปี 2566 ใหม่อีกครั้งในช่วงเดือน ก.ย. จากปัจจุบันที่คาดว่าเงินเฟ้อทั้งปี จะอยู่ในช่วง 1-2% โดยสมมติฐานที่ใช้คาดการณ์เงินเฟ้อ ประกอบด้วย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.7-3.7%, ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 71-81 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปี ที่ระดับ 33.50-35.50 บาทต่อดอลลาร์

“ถ้าสมมติฐาน 3 ตัวนี้ ไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีไว้ที่ 1-2% แต่ถ้าสมมติฐานทั้ง 3 ตัวนี้ มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่จะมีผลกระทบต่อ CPI ไม่ว่าจะเพิ่มขึ้น หรือลดลง ก็จะทบทวนเงินเฟ้อของปีนี้ใหม่อีกครั้งในเดือน ก.ย.” นายพูนพงษ์ ระบุ

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (มิ.ย.) ลดลง 0.01% (MoM) ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ จากการลดลงของเนื้อสุกร เนื้อโค และสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ (มะนาว ต้นหอม ถั่วฝักยาว เงาะ ทุเรียน ลองกอง) และเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม กะทิสำเร็จรูป) ขณะที่ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ น้ำอัดลม และอาหารโทรสั่ง (Delivery) ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย

สำหรับหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย เช่น ค่าเช่าบ้าน สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และค่าของใช้ส่วนบุคคล และค่าโดยสารเครื่องบิน สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ น้ำมันดีเซล เสื้อบุรุษและสตรี เครื่องใช้ไฟฟ้า ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม แชมพู เป็นต้น

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทย เมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนมิ.ย.66) จะพบว่า อัตราเงินเฟ้อหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อของไทย อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่มีการประกาศตัวเลข (ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนาม)

นายพูนพงษ์ กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค.66 ว่า มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยในกรอบแคบ ๆ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากสินค้าอาหารบางประเภทที่ยังคงขยายตัว เนื่องจากสภาพอากาศปีนี้ค่อนข้างแล้งกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย รวมทั้งราคาอาหารสำเร็จรูปที่ยังอยู่ในระดับสูง และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มขยายตัว จากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศ OPEC และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่มีความตึงเครียดมากขึ้น

“ฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในเดือนส.ค.65 อยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ และเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ ทั้งนี้ ความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สถานการณ์ภัยแล้ง เศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป” นายพูนพงษ์ ระบุ

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวด้วยว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าออกไปจากกำหนด ก็อาจจะส่งผลต่อการลงทุน การจ้างงาน และการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นผลทางอ้อมต่อกำลังซื้อของประชาชนที่จะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะยาวได้ แต่หากการจัดตั้งรัฐบาลสามารถทำได้ในช่วงส.ค. หรือ ก.ย. ก็จะไม่มีผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook