สรุปยังไง? เงินดิจิทัล 10,000 บาท จะใช้บล็อกเชน หรือ เป๋าตัง กันแน่
เงินดิจิทัล 10,000 บาท สรุปจะใช้บล็อกเชน หรือแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง กันแน่ ล่าสุด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สังกัดพรรคเพื่อไทย เฉลยแล้ว
กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้น หลังจากที่ชาวเน็ตมีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่ง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.พรรคก้าวไกล กล่าวถึงโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะให้กับคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปว่า การทำนโยบายเงินดิจิทัลหากดำเนินการผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง เชื่อว่าจะทำได้เร็วกว่าการสร้างแอปฯ ใหม่ ซึ่งเหมาะกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่ถ้ารัฐบาลจะยืมเงินจากรัฐวิสาหกิจ 5 แสนล้านบาทมาใช้ก่อนนั้น คงต้องพิจารณากรอบวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบ เนื่องจากตามกรอบกฎหมายสามารถให้ยืมได้แค่ 32% ของงบประมาณ (1.1 ล้านล้านบาท) ซึ่งขณะนี้เกือบเต็มแล้ว ต้องขยายเพดานเป็น 45% ของงบประมาณ
"ประเดิมงานแรกของนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ด้วยการทลายกรอบวินัยการเงินการคลัง โครงการที่กู้ยืมเงินรัฐวิสาหกิจยังมีปัญหา อีกอย่างคือ ไม่อยู่ในงบประมาณ เท่ากับไม่ต้องผ่านสภาฯ ไม่ต้องโดนสภาตรวจสอบตอนอนุมัติงบ" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
ล่าสุด นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวเรื่องช่องทางการจ่ายเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หรือ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่า พรรคเพื่อไทยยืนยันว่านโยบาย Digital Wallet จะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain อยู่เบื้องหลัง ซึ่งถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากเทคโนโลยีแบบเดิม เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
สรุปข้อมูลโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท
-
ใครได้บ้าง: คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ประมาณ 50 ล้านคน
-
การลงทะเบียน: ไม่ต้องลงทะเบียน จะเข้าบัญชีอัตโนมัติ
-
เริ่มวันที่เท่าไหร่: 1 กุมภาพันธ์ 2567
-
วิธีใช้เงินดิจิทัล: ดาวน์โหลดแอปที่ผูกกับบัตรประชาชน แล้วใช้ QR Code จ่ายเงิน
-
ถ้าไม่มีสมาร์ตโฟน: ใช้บัตรประจำตัวประชาชนและ QR Code ที่รัฐออก
-
ถอนเป็นเงินสดได้ไหม?: ไม่ได้
-
ใช้ที่ไหน: ร้านค้าในรอบ 4 กิโลเมตร จากที่อยู่ทะเบียนบ้าน
-
ซื้ออะไรได้: อาหาร, เครื่องดื่ม, ยารักษาโรค, ของใช้ประจำวัน