Blockchain คืออะไร ทำงานยังไง รู้จักก่อนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
บล็อกเชน (Blockchain) คืออะไร หลักการทำงานเป็นอย่างไร และมีประโยชน์อย่างไรบ้าง รู้จักกันไว้ก่อนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
เงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่หลายคนพูดถึงกันมากที่สุด ซึ่งก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยบอกไว้ชัดเจนว่า จะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้คนไทยได้จับจ่ายใช้สอยผ่านกระเป๋นเงินดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านระบบบล็อกเชน และเมื่อเอ่ยถึง บล็อกเชน (Blockchain) บางคนอาจสงสัยว่ามันคืออะไร และทำงานอย่างไร Sanook Money มีข้อมูลดีมากฝากกัน
บล็อกเชน (Blockchain) คืออะไร
Blockchain คือ เป็นเทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ไม่อาศัยคนกลาง และไม่มีใครเป็นเจ้าของ เนื่องจากข้อมูลจะถูกจัดเก็บในรูปแบบบล็อก (Block) หลายๆ บล็อกเชื่อมกันเป็นเส้นเครือข่าย (Chain) ผ่านการเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์ โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกจะส่งต่อข้อมูลไปยังอุปกรณ์ หรือคอมพิวเตอร์ของทุกคนที่เชื่อมกันเป็นเครือข่าย ทำให้ข้อมูลในบล็อกเชนนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือลบได้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ใช้ในเครือข่ายทั้งหมด
หลักการทำงานของบล็อกเชน (Blockchain)
การทำงานของบล็อกเชน คือ ฐานข้อมูลหลักกระจายข้อมูลในระบบไปยังคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องภายในเครือข่าย หรือเรียกว่า Node โดยคอมพิวเตอร์เหล่านั้นกระจายตัวอยู่ทุกที่ทั่วมุมโลก ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลจะไม่สูญหายในกรณีที่คอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่งขัดข้อง อีกทั้งสร้างความโปร่งใสในการทำธุรกรรม เพราะเปลี่ยนแปลงข้อมูลบนคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่งไม่ได้ หากจะทำต้องเข้าไปแก้ไขข้อมูลบนเครื่องคอมพิวเตอร์หรือ Node ทุกตัวที่อยู่บนเครือข่าย
นอกจากนี้ คอมพิวเตอร์ในเครือข่ายยังยืนยันและตรวจสอบได้ว่าบล็อกนั้นถูกต้องหรือไม่ก่อนบันทึกข้อมูลลงในเครือข่ายบล็อกเชน หากคอมพิวเตอร์เครื่องไหนส่งสัญญาณว่าบล็อกนั้นมีความผิดปกติ Node อื่นจะทำการปฏิเสธบล็อกนั้นตามไปด้วย
ประโยชน์ของบล็อกเชน (Blockchain)
เนื่องด้วยบล็อกเชน (Blockchain) มีคุณสมบัติที่สามารถจัดเก็บข้อมูลและเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบได้ ทำให้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลายแห่ง ดังนี้
- การเงิน : ใช้ในการบันทึกธุรกรรมทางการเงิน เช่น การโอนเงิน การทำสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์ การตรวจสอบย้อนหลัง หรือการออกสกุลเงินดิจิทัล
- การขนส่ง : ใช้ในการติดตามสินค้าและบริการตลอดห่วงโซ่อุปทาน
- สาธารณสุข : ใช้ในการบันทึกข้อมูลทางการแพทย์ เช่น ประวัติการรักษาพยาบาล ผลการวินิจฉัย และข้อมูลสุขภาพอื่น ๆ
- พลังงาน : ใช้ในการซื้อขายพลังงานหมุนเวียน เช่น ไฟฟ้า ความร้อน และพลังงานลม
- การเกษตร : ใช้ในการติดตามข้อมูลการผลิตทางการเกษตร เช่น ข้อมูลสภาพอากาศ ข้อมูลผลผลิต และข้อมูลการตลาด
ข้อดี และข้อเสียของบล็อกเชน (Blockchain)
ข้อดีของบล็อกเชน
- ความโปร่งใส (Transparency) : ข้อมูลในบล็อกเชนนั้นสามารถตรวจสอบได้แบบสาธารณะ ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้อย่างโปร่งใส
- ความน่าเชื่อถือ (Reliability) : ข้อมูลในบล็อกเชนนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือลบได้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ใช้ในเครือข่ายทั้งหมด ทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือสูง
- ความปลอดภัย (Security) : ข้อมูลในบล็อกเชนนั้นถูกเข้ารหัสลับ ทำให้ข้อมูลมีความปลอดภัยสูง
- ประสิทธิภาพ (Efficiency) : กระบวนการตรวจสอบและยืนยันธุรกรรมในบล็อกเชนนั้นสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ข้อเสียของบล็อกเชน
- ความซับซ้อน : เทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นมีความซับซ้อนและต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้ยากต่อการนำไปใช้
- ต้นทุน : การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้นั้นอาจต้องใช้ต้นทุนสูง เช่น ค่าใช้จ่ายด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และแรงงาน
- ประสิทธิภาพ : เทคโนโลยีบล็อกเชนอาจไม่มีประสิทธิภาพสำหรับบางแอปพลิเคชัน เช่น แอปพลิเคชันที่ต้องมีการประมวลผลข้อมูลปริมาณมาก
- ความเป็นส่วนตัว : ข้อมูลในบล็อกเชนนั้นสามารถตรวจสอบได้แบบสาธารณะ ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลอาจถูกเปิดเผยได้
- การปฏิบัติตามข้อบังคับ : เทคโนโลยีบล็อกเชนอาจไม่สอดคล้องกับข้อบังคับบางประการ เช่น ข้อบังคับด้านความเป็นส่วนตัวหรือข้อบังคับด้านความปลอดภัย