ประกันสังคม ม.33-ม.39 ชาย เบิกสิทธิค่าตรวจ-ฝากครรภ์คลอดบุตรได้ให้ภรรยาได้
ผู้ประกันตนชาย ประกันสังคม ม.33-ม.39 ที่มีภรรยาไม่ได้เป็นผู้ประกันตน สามารถเบิกสิทธิค่าตรวจ-ฝากครรภ์ คลอดบุตร และสงเคราะห์บุตรได้
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายสำคัญในการเสริมสร้างหลักประกันทางสังคมให้แก่ผู้ประกันตน เพื่อลดภาระหนี้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และเติมทุน สร้างสุขให้แรงงาน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ผู้ประกันตนมีภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะผู้ประกันตนชายที่ภรรยามีบุตร ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตรซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ทำให้สถานะทางการเงินในครอบครัวได้รับผลกระทบนั้น
สำนักงานประกันสังคมเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงได้ให้ผู้ประกันตนชายที่ภรรยาคลอดบุตรสามารถขอรับสิทธิตั้งแต่ค่าตรวจและฝากครรภ์ คลอดบุตรและสงเคราะห์บุตรได้ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายโดยผู้ประกันตนหญิง หรือชายซึ่งเปรียบเสมือนหัวหน้าของครอบครัว ที่ต้องดูแลลูก
โดยสำนักงานประกันสังคม ให้สิทธิผู้ประกันตนชายมาตรา 33 และมาตรา 39 ในกรณีที่ภรรยาไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 ผู้ประกันตนชายสามารถใช้สิทธิจากกองทุนประกันสังคม แบ่งเป็น 3 กรณีตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการขอรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคม ดังนี้
1. กรณีค่าตรวจและฝากครรภ์ ผู้ประกันตนชายสามารถเบิกเท่าที่จ่ายจริงจำนวน 5 ครั้ง ไม่เกิน 1,500 บาท ดังนี้
- อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนชายต้องแนบใบรับรองแพทย์ หรือสำเนาสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก ใบเสร็จรับเงินจากสถานพยาบาลที่ตรวจและฝากครรภ์ สำเนาทะเบียนสมรส สำหรับกรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีใบทะเบียนสมรส ยื่นกับสำนักงานประกันสังคมเพื่อใช้สิทธิด้วย
2. ผู้ประกันตนชายมาตรา 33 มาตรา 39 สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร จะต้องมีการส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวล 15 เดือน ก่อนเดือนที่ภรรยาคลอดบุตร จะได้รับเงินเหมาจ่ายค่าคลอด จำนวน 15,000 บาท เบิกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
3. ผู้ประกันตนชายที่จดทะเบียนสมรสกับภรรยาหรือจดทะเบียนรับรองบุตรว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และมีการจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ผู้ประกันตนชายสามารถขอรับสิทธิกรณีสงเคราะห์บุตรได้เดือนละ 800 บาท ตั้งแต่บุตรแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ อีกด้วย
นายบุญสงค์ กล่าวต่อไปว่า สำนักงานประกันสังคม พร้อมดูแลผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิประโยชน์กรณีค่าตรวจและฝากครรภ์ คลอดบุตร และสงเคราะห์บุตร เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาประเทศชาติ จึงขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมที่มุ่งมั่น เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ ผู้ประกันตนสามารถขอรับประโยชน์ทดแทนผ่านระบบ e-self service และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กรณีค่าตรวจและฝากครรภ์ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง