ค่าเงินบาทวันนี้ 3 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 37.07 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง

ค่าเงินบาทวันนี้ 3 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 37.07 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง

ค่าเงินบาทวันนี้ 3 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 37.07 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ค่าเงินบาทวันนี้ 3 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 37.07 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.96 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.90-37.20 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทวันนี้เปิดที่ระดับ 37.07 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.96 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.91-37.05 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวขึ้น ตามรายงานดัชนี ISM PMI สหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อ จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ ซึ่งภาพดังกล่าวยังได้ส่งผลให้ ราคาทองคำปรับตัวลงต่อเนื่อง และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) ทว่า หุ้นเทคฯ ใหญ่ (The Magnificent Seven) นำโดย Nvidia +3.0% สามารถปรับตัวขึ้น แม้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทำจุดสูงสุดใหม่ทะลุระดับ 4.70% ก็ตาม โดย Nvidia และหุ้นเทคฯ ใหญ่ ได้รับแรงหนุนจากมุมมองของนักวิเคราะห์ที่ยังคงแนะนำการลงทุนในธีม AI ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.67% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.01%

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทกลับไม่ได้ชะลอลงตามที่เราประเมินไว้ก่อนหน้า กดดันโดยโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง (ทะลุโซนแนวรับที่เราประเมินไว้) ซึ่งภาพดังกล่าวก็เกิดขึ้นในช่วงที่ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวขึ้น ทำให้ในวันนี้ เงินบาทยังมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าต่อได้ หลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 36.85 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เงินบาทอ่อนค่าต่อทดสอบโซน 37.15-37.25 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม เราคงมุมมองเดิมว่า จุดอ่อนค่าสุดของเงินบาทที่เป็นไปได้ใหม่ หากอ้างอิงการประเมิน Valuation ของเงินบาทจากดัชนีเงินบาท REER จะอยู่ที่ประมาณ 37.50 บาทต่อดอลลาร์ (ประเมินไว้ เมื่อวันที่ 26 กันยายน)

อย่างไรก็ดี ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ในช่วงระหว่างวัน เนื่องจากแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มชะลอลงบ้าง และมีโอกาสที่อาจจะเห็นการทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้าง หลังดัชนี SET ก็ปรับตัวลงมาใกล้โซนแนวรับสำคัญ ทั้งนี้ ในระยะสั้น เรามองว่า แรงขายบอนด์ระยะยาวของไทยก็อาจยังพอมีอยู่บ้าง จนกว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะพลิกกลับมาย่อตัวลง

ทั้งนี้ ควรระมัดระวัง ความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วงเวลา 21.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย เพราะหากยอดตำแหน่งงานเปิดรับปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หรือ ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟด หรือ แนวโน้มเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน ในทางกลับกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด จะยิ่งหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ราคาทองคำปรับตัวลงต่อได้ ส่งผลให้เงินบาทจะยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อไปในช่วงนี้

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.90-37.20 บาทต่อดอลลาร์

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาลดลงกว่า -1.03% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานของบรรดาธนาคารกลางหลัก ที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ต่างปรับตัวสูงขึ้น รวมถึง ความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของเศรษฐกิจยูโรโซน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP -2.3%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และความกังวลว่า ซาอุฯ อาจกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตได้

ในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป รวมถึงรายงานดัชนี ISM PMI ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.70% อีกครั้ง ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวไม่ได้เหนือความคาดหมายของเรา ซึ่งเราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนควรทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น เนื่องจาก Risk-Reward (มอง Total Return และ Real Yield) มีความคุ้มค่า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างมีสถานะ Short บอนด์ระยะยาวกันมาก ทำให้ หากมีปัจจัยที่ทำให้มุมมอง Higher for Longer เปลี่ยนไป เรามองว่า การทยอยปิดสถานะ Short อาจช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวลงได้ไม่ยาก

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นทะลุโซน 107 จุด ได้สำเร็จ (กรอบ 106.4-107.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 1,840 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งต่ำกว่ากรอบแนวรับที่เราประเมินไว้ในสัปดาห์นี้ อนึ่ง เรามองว่า การปรับตัวลงของราคาทองคำใกล้โซนแนวรับหลัก จะทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ซึ่งอาจสะท้อนภาวะการจ้างงานในสหรัฐฯ ได้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ประเมินว่า ยอดคำแหน่งงานเปิดรับอาจทรงตัวที่ระดับ 8.83 ล้านตำแหน่ง

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดจะรอจับตาผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า RBA อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.10% หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook