ค่าเงินบาทวันนี้ 10 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 36.90 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น

ค่าเงินบาทวันนี้ 10 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 36.90 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น

ค่าเงินบาทวันนี้ 10 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 36.90 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ค่าเงินบาทวันนี้ 10 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 36.90 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.11 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.80-37.05 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทวันนี้เปิดที่ระดับ 36.90 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.11 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.89-37.13 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนที่มองว่า เฟดอาจมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยลดลง หลังบอนด์ยีลด์ได้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ การย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเราคาดว่าโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

แม้ว่าความกังวลสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสอาจกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินบ้าง ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มผู้ผลิตอาวุธ อาทิ Lockheed Martin +8.9% นอกจากนี้ ความกังวลผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบจากภาวะสงคราม ยังส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้นแรงตามน้ำมันดิบ (Exxon Mobil +3.5%) ส่วนบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ยังพอได้แรงหนุนจากการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.63%

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน แม้ว่าโมเมนตัมฝั่งแข็งค่าเริ่มกลับมา ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ เนื่องจากภาวะสงครามที่เกิดขึ้นได้หนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น และยังมีความเสี่ยงอยู่บ้างที่ หากสถานการณ์สงครามทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้ไม่ยาก ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ จากความกังวลแนวโน้มการขาดดุลการค้า ซึ่งจะกดดันแนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ขณะเดียวกัน ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจยังมีความผันผวนอยู่ ทั้งนี้ เราประเมินว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยอาจชะลอตัวลง หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลง ส่วนในฝั่งตลาดหุ้น เราเริ่มเห็นแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาบ้าง

ทั้งนี้ เรายังคงประเมินโซนแนวต้านของเงินบาทไว้แถว 37.25 บาทต่อดอลลาร์ และคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากกว่า 37.50 บาทต่อดอลลาร์ (ตามที่เราได้ประเมินไว้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน) ขณะที่ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยยังให้โซนแนวรับแรกแถว 36.80 บาทต่อดอลลาร์ และโซนแนวรับถัดไปที่ 36.60 บาทต่อดอลลาร์

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.80-37.05 บาทต่อดอลลาร์

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.26% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH -2.6%, Dior -2.4%) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลว่าภาวะสงครามอาจกระทบยอดขายในฝั่งตะวันออกกลาง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +2.9%, Shell +2.6%)

ในฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศในตลาดการเงินที่ถูกกดดันจากภาวะสงคราม รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนที่มองว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 4.65% ทั้งนี้ แม้ว่าในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจถูกกดดันจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (ความเสี่ยงสงครามในตะวันออกกลาง) ทว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายเงินอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ทำให้เราคงแนะนำ Buy on Dip ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงใกล้ระดับ 106 จุด (กรอบ 105.9-106.6 จุด) โดยแม้ว่าผู้เล่นบางส่วนอาจยังคงถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่เงินดอลลาร์ก็ไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปได้มาก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดกลับเลือกที่จะถือ ทองคำ และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยหลักในช่วงนี้ นอกจากนี้เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนที่ระบุว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ได้ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 1,880 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรได้ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือ สงครามจะขยายวงกว้างจนกระทบทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่

นอกจากนี้ ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลาง ทั้ง เฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีเจ้าหน้าที่บางส่วนของทั้ง เฟด และ ECB ออกมาส่งสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดยุติลงแล้ว ซึ่งอาจช่วยคลายความกังวลแนวโน้มธนาคารกลางหลักเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้นานขึ้น (Higher for Longer)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook