ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 36.19 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 36.19 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 36.19 บาทต่อดอลลาร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 36.19 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.40 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.30 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดที่ระดับ 36.19 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้าที่เป็นวันหยุดของตลาดการเงินไทย เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 36.13-36.55 บาทต่อดอลลาร์) ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ หลังสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส ส่อเค้าทวีความรุนแรงและเสี่ยงที่จะบานปลายมากขึ้น อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และการพุ่งขึ้นแรงของราคาน้ำมันดิบ จากความกังวลต่อสถานการณ์สงครามเช่นกัน

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำและฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยอีกครั้ง

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอจับตา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนและสหรัฐฯ พร้อมระวังและเตรียมรับมือความผันผวนในตลาดการเงิน จากภาวะสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นและเสี่ยงที่อาจจะบานปลาย

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าอาจชะลอลง หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อ ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจยังมีความผันผวน ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กลับมาเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาน้ำมันดิบ รวมถึงราคาทองคำ ที่อาจผันผวนสูงไปตามปัจจัยสงครามและส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้ และที่สำคัญทิศทางเงินหยวนจีน หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนก็จะมีผลต่อเงินบาทและสกุลเงินเอเชียได้พอสมควรเช่นกัน

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจยังได้แรงหนุนอยู่จากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย หลังสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส อาจทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น นอกจากนี้ เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อ หากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลต่อแนวโน้มเฟดเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงนี้ ตลาดการเงินยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.85-36.60 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.30 บาทต่อดอลลาร์

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด หลังทั้งรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุด ออกมาผสมผสาน ขณะเดียวกัน สถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสและพันธมิตร Axis of Resistance ที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงและบานปลายขึ้น ก็อาจหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อแนวโน้มการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อ (Disinflation progress) ได้ โดยล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยราว 30% ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ก่อนที่จะเริ่มลดดอกเบี้ยลงในช่วงกลางปีหน้า (ลดดอกเบี้ยทั้งหมดราว -75bps) ซึ่งนอกเหนือจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เพื่อประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟด และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ควรจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยในสัปดาห์นี้จะมีการรายงานผลประกอบการของบรรดาสถาบันการเงินขนาดใหญ่ รวมถึงบริษัทเทคฯ ใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของทั้ง BOE และ ECB นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนกันยายนจากอังกฤษ ทั้งข้อมูลการจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก ซึ่งหากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลงมากขึ้น ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้นว่า BOE ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วที่ระดับ 5.25%

ฝั่งเอเชีย – นักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3 อาจขยายตัวราว +4.5%y/y ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ก็เป็นการขยายตัว +1.0%q/q สะท้อนภาพการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ได้แรงหนุนจากการบริโภคในประเทศ หลังการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะสอดคล้องกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญเดือนกันยายน ที่ยอดค้าปลีกอาจโตได้ +4.9%y/y ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ก็อาจขยายตัว +4.3%y/y ทั้งนี้ ยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) อาจโตเพียง +5.2%y/y, YTD กดดันโดยภาคอสังหาฯ ที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ยังคงประเมินว่า การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้จะเป็นไปอย่างช้า แต่ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจยังคงอัตราดอกเบี้ย MLF 1 ปี ไว้ที่ระดับ 2.50% เช่นเดียวกัน กับ อัตราดอกเบี้ยลูกหนี้ชั้นดี LPR 1 ปี และ 5 ปี ที่จะยังคงอยู่ที่ระดับ 3.45% และ 4.20% ตามลำดับ ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกันยายน ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด (Core-Core CPI) ยังคงสูงกว่า 4% ก็อาจเพิ่มโอกาสให้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook