ค่าเงินบาทวันนี้ 19 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 36.38 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง

ค่าเงินบาทวันนี้ 19 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 36.38 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง

ค่าเงินบาทวันนี้ 19 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 36.38 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ค่าเงินบาทวันนี้ 19 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 36.38 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.29 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.25-36.55 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดที่ระดับ 36.38 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.29 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในลักษณะทยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.23-36.41 บาทต่อดอลลาร์) โดย มีจังหวะอ่อนค่าลงตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินจากสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่ยังคงร้อนแรง ซึ่งหนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะเดียวกัน ความกังวลผลกระทบจากสงคราม รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดูดีอยู่ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลกับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอาจอยู่ในระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) ก็ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.90% อีกครั้ง อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากความเสี่ยงสงคราม

ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงกว่า -1.34% ท่ามกลางปัจจัยกดดัน ทั้ง 1) สถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น 2) ความกังวลต่อแนวโน้มผลประกอบการบริษัทผู้ผลิตชิพ อาทิ Nvidia หลังทางการสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนระงับการส่งออกชิพ ไปยังจีน และ 3) ความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใส และผลกระทบจากภาวะสงครามที่อาจทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น กระทบต่อแนวโน้มการชะลอลงของเงินเฟ้อ

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน จากสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น ซึ่งความกังวลดังกล่าว ได้ส่งผลให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นพอสมควร อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำก็ปรับตัวขึ้นตามความเสี่ยงภาวะสงคราม ทั้งนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังมีความผันผวนสูง ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้เงินบาท สามารถผันผวนอ่อนค่าได้ หากนักลงทุนต่างชาติยังคงเทขายสินทรัพย์ไทย อนึ่ง เราประเมินว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ อาจไม่ได้รุนแรงมากนัก เนื่องจากดัชนี SET ได้ปรับตัวลดลงมาสู่ระดับที่ valuation ก็ไม่แพง และเป็นโซนแนวรับสำคัญในเชิงเทคนิคัล ส่วนบอนด์ยีลด์ไทยก็อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อไปมากนัก (คาดว่า ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอความชัดเจนของมาตรการ Digital Wallet)

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดก็เริ่มให้น้ำหนักเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนธันวาคม หรือ การประชุมในช่วงต้นปีหน้า มากขึ้น และมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงเพียง -50bps ในปีหน้า ซึ่งหากถ้อยแถลงของประธานเฟด ทำให้มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดเปลี่ยนแปลงไป ก็อาจกระทบต่อตลาดการเงินได้พอสมควร

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน สถานการณ์สงครามที่เสี่ยงทวีความรุนแรงและบานปลาย ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.25-36.55 บาทต่อดอลลาร์

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงกว่า -1.05% ท่ามกลางความกังวลต่อพัฒนาการของสถานการณ์สงคราม นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปที่ออกมาแย่กว่าคาด โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ในกลุ่ม Semiconductor อย่าง ASML -3.4% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน BP +0.5% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นตามความกังวลสถานการณ์สงคราม

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ยังคงออกมาสดใส รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หากสถานการณ์สงครามบานปลาย จนอาจกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นานของเฟด ซึ่งแม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ชัดเจน แต่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็สามารถทยอยปรับตัวขึ้นแตะระดับ 4.90% ได้ ทั้งนี้ ความผันผวนของบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ในช่วงนี้ ไม่ได้ผิดไปจากที่เราคาดการณ์ไว้ ซึ่งเราคงคำแนะนำเดิมว่า นักลงทุนสามารถทยอย Buy on Dip ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก Risk-Reward ของการถือบอนด์ระยะยาวในช่วงยีลด์สูงมีความคุ้มค่าและน่าสนใจอยู่

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 106.5 จุด (กรอบ 106.1-106.7 จุด) โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลต่อแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงได้นาน และความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดกังวลภาวะสงคราม ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นได้ ทว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดกังวลภาวะสงครามเช่นกัน ทำให้ราคาทองคำทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด นอกจากนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ ประธานเฟด Jerome Powell (ในช่วงเวลา 23.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) หลังล่าสุดภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวลงมาก ขณะเดียวกัน ปัจจัยสงครามก็อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้อได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอยากจับตาว่า ท่าทีของประธานเฟดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือ สงครามจะขยายวงกว้างจนกระทบทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook