ค่าเงินบาทวันนี้ 31 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 35.92 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

ค่าเงินบาทวันนี้ 31 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 35.92 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

ค่าเงินบาทวันนี้ 31 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 35.92 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ค่าเงินบาทวันนี้ 31 ต.ค. 66 เปิดที่ระดับ 35.92 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.95 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.75-36.00 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดที่ระดับ 35.92 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.95 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.85-35.97 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ซึ่งเผชิญแรงขายทำกำไร หลังบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกัน การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วของเงินเยนญี่ปุ่นสู่ระดับ 149.15 เยนต่อดอลลาร์ จากการเก็งกำไรของผู้เล่นในตลาดช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม BOJ ในวันอังคารนี้ ก็มีส่วนกดดันเงินดอลลาร์เช่นกัน นอกจากนี้ เงินบาทยังคงได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังสามารถแกว่งตัวเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนโดยส่วนใหญ่นั้นออกมาดีกว่าคาด และอาจทำให้ผลกำไรในไตรมาสที่ 3 ยังขยายตัวต่อได้ สวนทางกับที่ผู้เล่นในตลาดได้คาดการณ์ว่า ผลกำไรอาจหดตัวลงในไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุมเฟด รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.20%

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมองว่า เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ รวมถึง การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุม BOJ ทำให้ เรามองว่า ตลาดค่าเงินอาจผันผวนสูงได้ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ โดยเฉพาะในกรณีที่ BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างที่ตลาดกำลังคาดหวังและได้สะท้อนในการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนล่าสุด ซึ่งจะทำให้ เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง นอกจากนี้ เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้น อาจถูกชะลอลงด้วยโฟลว์ขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) ของบรรดาผู้เล่นในตลาด และแรงซื้อเงินดอลลาร์ ของผู้นำเข้าบางส่วน ทำให้ เงินบาทอาจมีโซนแนวรับแถว 35.80 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทแข็งค่าหลุดระดับดังกล่าว ก็มีโอกาสแข็งค่าทดสอบโซน 35.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน สถานการณ์สงครามที่เสี่ยงทวีความรุนแรงและบานปลาย ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.75-36.00 บาทต่อดอลลาร์

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 รีบาวด์ขึ้น +0.36% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่ม Healthcare (Sanofi +3.3%, Novo Nordisk +2.7%) ซึ่งเผชิญแรงเทขายหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว หลังภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น

ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด รวมถึงความคาดหวังว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจออกมาสดใส จะยังหนุนแนวโน้มเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.90% อีกครั้ง ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อสะสม เนื่องจาก Risk-Reward มีความน่าสนใจ

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long เงินดอลลาร์ หลังตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง นอกจากนี้ การกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่นล่าสุด ก็มีส่วนกดดันเงินดอลลาร์เช่นกัน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 106.2 จุด (กรอบ 106-106.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง แต่การกลับมาเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดและการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำ กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัวในโซน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดย เราประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะตัดสินใจ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% และจะยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบาย Yield Curve Control อย่างไรก็ดี เราจะจับตาว่า BOJ จะมีการส่งสัญญาณพร้อมทยอยปรับนโยบายการเงินหรือไม่ หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย 2% พอสมควรมาเป็นเวลานาน ขณะเดียวกันเงินเยนญี่ปุ่นก็อ่อนค่าหนักในปีนี้

นอกจากนี้ ทางฝั่งจีน ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของจีน ในเดือนตุลาคม โดยหากรายงานดัชนี PMI ของจีนสะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์จีน ซึ่งจะส่งผลให้เงินหยวนจีนและสกุลเงินฝั่งเอเชียทยอยแข็งค่าขึ้นได้

ทางฝั่งยุโรป ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 และรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CB Consumer Confidence) และรายงานดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (Employment Cost Index) ซึ่งอาจช่วยสะท้อนถึงแรงกดดันต่อเงินเฟ้อจากค่าจ้างได้

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงนี้ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook