ค่าเงินบาทวันนี้ 2 พ.ย. 66 เปิดที่ระดับ 36.04 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น

ค่าเงินบาทวันนี้ 2 พ.ย. 66 เปิดที่ระดับ 36.04 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น

ค่าเงินบาทวันนี้ 2 พ.ย. 66 เปิดที่ระดับ 36.04 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ค่าเงินบาทวันนี้ 2 พ.ย. 66 เปิดที่ระดับ 36.04 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.22 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.85-36.15 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดที่ระดับ 36.04 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.22 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ (แกว่งตัวในช่วง 36.06-36.29 บาทต่อดอลลาร์) อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังผลการประชุมเฟดเป็นไปตามที่ตลาดคาด (คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50%) อีกทั้งโทนการสื่อสารของเฟดก็ไม่ได้มีความ Hawkish มากนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ เหลือ ราว 30% (ลดลงจากราว 38% ในสัปดาห์ก่อน)

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม หลังผลการประชุมเฟด เป็นไปตามที่ตลาดคาดหวัง อีกทั้งถ้อยแถลงของประธานเฟดได้ลดความกังวลต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นต่อเบี้ยต่อของเฟด ส่งผลให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ปรับตัวขึ้น ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาทิ Nvidia +3.8%, Meta +3.5% ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.64% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.05%

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า บรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) มากขึ้น อาจช่วยหนุนให้ เงินบาทสามารถคงโมเมนตัมการแข็งค่าจากช่วงหลังรับรู้ผลการประชุมเฟดได้ ซึ่งต้องจับตา ทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่าจะทยอยกลับเข้ามาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยได้หรือไม่ หลังจากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังมีทิศทางไม่ชัดเจน อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ต่อเนื่อง ก็อาจติดโซนแนวรับสำคัญแถว 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หรือ ทยอยขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB (มองเงินบาทแข็งค่า)

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE เพราะแม้ว่า ตลาดจะคาดหวังว่า BOE จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากภาพเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงมากขึ้น แต่หาก BOE กลับมากังวลแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น ก็อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้ เงินปอนด์อังกฤษ อ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินดอลลาร์ยังไม่สามารถอ่อนค่าลงได้ชัดเจน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เช่น ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้

นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดที่มีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับเงินเยนญี่ปุ่น ควรระมัดระวังความผันผวนของค่าเงินเยนในช่วงนี้ หลังจากที่ล่าสุด ทางการญี่ปุ่นได้ส่งสัญญาณเตือนว่า ค่าเงินเยนมีการอ่อนค่าต่อเนื่อง มากเกินไป ซึ่งการส่งสัญญาณดังกล่าว มักจะสอดคล้องกับการเข้าแทรกแซงค่าเงินของทางการญี่ปุ่น โดยเราประเมินว่า หากเงินเยนกลับมาอ่อนค่าลงต่อชัดเจน ทะลุระดับ 153 เยนต่อดอลลาร์ขึ้นไป (ATR ใน time frame รายวัน ควรใกล้ถึงระดับ 2 เยนต่อดอลลาร์) ก็อาจเปิดโอกาสให้ทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินได้ อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า ค่าเงินเยนได้อ่อนค่าลงหนัก เกินปัจจัยพื้นฐานไปพอสมควร (undervalued) ทำให้เงินเยนมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 145 เยนต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปีนี้ และระดับ 135 เยนต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปีหน้าได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถปรับตัวลดลงได้จริงตามคาด เนื่องจาก ทุกๆ การปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ราว 10bps จะช่วยหนุนให้ เงินเยนสามารถแข็งค่าขึ้นได้ราว 1% (หากให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ญี่ปุ่น คงที่)

ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินและสถานการณ์สงคราม ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.85-36.15 บาทต่อดอลลาร์

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.67% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด นำโดย ASML +1.1% ขณะเดียวกัน บรรดาหุ้นกลุ่ม Healthcare ก็รีบาวด์ขึ้นบ้าง หลังเผชิญแรงเทขายหนักในช่วงที่ผ่านมา อาทิ Novo Nordisk +1.6%

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ลดความกังวลต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟด หลังรับรู้ผลการประชุมเฟดล่าสุด ก็มีส่วนกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.72% อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นได้บ้างในสัปดาห์นี้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ในวันศุกร์ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า จุดสูงสุดของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ น่าจะผ่านไปแล้ว ที่ระดับแถว 5% ทำให้เรายังคงแนะนำ “Buy on Dip” บอนด์ระยะยาว โดยรอจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ในการทยอยเข้าซื้อ

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่ระดับ 106.5 จุด (กรอบ 106.5-107.1 จุด) หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย จากผลการประชุมเฟดที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาด ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง อย่างไรก็ดี ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม และความกังวลต่อสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่ลดลง ก็เป็นปัจจัยที่กดดันให้ราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อไปได้ง่ายนัก

สำหรับวันนี้ หลังจากที่ตลาดได้รับรู้ผลการประชุมเฟดล่าสุดไปแล้วนั้น ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจต่อ ผลการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเรามองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษและอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เลือกที่จะ “คง” อัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25% ทั้งนี้ ควรจับตาการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินจากผู้ว่าฯ BOE อย่างใกล้ชิด โดยถ้อยแถลงดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของเงินปอนด์อังกฤษได้ (หากเงินปอนด์อ่อนค่าลงต่อ ก็อาจช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง)

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ เพื่อประเมินภาวะการจ้างงานในสหรัฐฯ ซึ่งเฟดยังคงมองว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยรวมยังมีความแข็งแกร่งอยู่

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจและผลการประชุม BOE ดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ ผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง Apple ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงนี้ได้เช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook