ณพ ณรงค์เดช-คุณหญิงกอแก้ว ยันไม่เคยโกงซื้อหุ้น WEH เผยดราม่าถูกเบียดบังมรดก
นายณพ ณรงค์เดช ผู้ถือหุ้น บริษัท วินด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (WEH) และนายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ ที่ปรึกษากฎหมาย พร้อมด้วยคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา แม่ยาย และ นายอภิวุฒิ ทองคำ ที่ปรึกษากฎหมาย แถลงเปิดใจโต้กลับทุกข้อกล่าวหาคดีครอบครัว และคดีหุ้น WEH ยืนยันความบริสุทธิ์การลงทุนในหุ้น WEH และการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคดีปลอมลายเซ็นต์นายเกษม ณรงค์เดช ซึ่งเป็นบิดา เพื่อโอนหุ้น WEH ศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง และย้ำว่าครอบครัวณรงค์เดช ไม่มีส่วนร่วมในการ ลงทุนหุ้น WEH
“เป็นเวลาเกือบ 6 ปีแล้ว ที่มีบุคคล 2 กลุ่ม คือนายนพพร ผู้ขายหุ้นบริษัท วินด์ เอ็นเนอร์ยี่ ให้กับผม และพี่กับน้องของผม คือ นายกฤษณ์ และนายกรณ์ ได้ทำการเผยแพร่ และให้ข่าวเกี่ยวกับการที่พวกเขามาฟ้องคดีผม และคุณหญิงกอแก้วหลายคดี โดยใช้วิธีการให้ข่าวที่เบี่ยงเบนประเด็น โดยไม่ให้ข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน เพื่อทำให้ผู้ติดตามข่าว เกิดความเข้าใจผิดว่าผมไปโกงนายนพพร และผมไปโกงพี่น้อง ซึ่งทำให้ผม คุณหญิงกอแก้ว ภรรยา และลูก ๆ ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง และได้รับผลกระทบต่าง ๆ เป็นอย่างมาก แต่เราก็เลือกที่จะไม่ตอบโต้ และรอให้ศาลมีคำพิพากษาครบทุกคดี จึงค่อยออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงในครั้งเดียว เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าเรื่องที่เกิดขึ้น ความจริงคืออะไร-ใครกันแน่ที่โกง”นายณพ กล่าว
เมื่อวันที่ 5 ก.ค.65 และวันที่ 28 ก.ย.66 ศาลอาญารัชดา และศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำพิพากษายกฟ้องทั้งสองคดีที่พี่ชายและน้องชายได้ให้นายเกษมฟ้องคุณหญิงกอแก้วและตนเองว่าใช้เอกสารปลอม และปลอมแปลงเอกสาร” และล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลแขวงพระนครใต้ ซึ่งเป็นคดีที่นายนพพร ศุภพิพัฒน์ อดีตผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ WEH ได้ฟ้องตนเองและพวกเป็นคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นคดีสุดท้ายที่รอฟังคำพิพากษาอยู่ก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทุกคนเช่นกัน
นายณพ กล่าวว่า เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นจากการเข้าไปซื้อหุ้น WEH จากนายนพพร ซึ่งหลบหนีออกนอกประเทศไทยจากการเป็นผู้ต้องหาคดีความผิดตามมาตรา 112 ทำให้จำเป็นต้องขายหุ้น WEH แบบขายขาด และได้โอนหุ้นให้ตนเองก่อนทั้งหมดแล้วค่อยชำระเงินค่าหุ้น เพื่อแก้ปัญหาที่ WEH ไม่สามารถหาเงินกู้เพื่อดำเนินกิจการต่อไปได้ เพราะสถาบันการเงินไม่สนับสนุนสินเชื่อหากยังมีนายนพพรเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
เมื่อได้รับโอนหุ้นมา ก็ได้จ่ายเงินค่าซื้อหุ้นงวดแรกให้นายนพพรไปแล้วเมื่อปี 58 จำนวน 90.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็นกว่า 3,000 ล้านบาท แต่เมื่อนายนพพรได้รับเงินไปแล้วกลับฟ้องคดีเรียกหุ้นคืนแต่แพ้คดี อนุญาโตตุลาการบังคับให้นายนพพรปฏิบัติตามสัญญา คือ รับชำระเงินค่าหุ้นในส่วนอื่น ๆ ต่อไป และจะเอาหุ้นคืนไม่ได้ ตนเองจึงได้ชำระเงินค่าหุ้นส่วนที่เหลือ 85.75 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือ อีกกว่า 3,000 ล้านบาท ให้นายนพพรไปตั้งแต่ปี 61 ครบถ้วนตามสัญญา เหลือเพียงเงินโบนัสที่ยังโต้แย้งกันอยู่ในคดีของศาลไทย และเมื่อนายนพพรได้เงินไปแล้ว แต่ไม่ได้หุ้นคืน ก็ได้ไปฟ้องคดีอื่น ๆ ตามมาอีกหลายคดี ทั้งในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ในประเทศไทย และประเทศอังกฤษ
คดีทุก ๆ เรื่อง ทั้งในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และในประเทศไทยนั้น ศาลตัดสินให้คุณหญิงกอแก้วและตนเองชนะคดีทั้งหมด มีเพียงศาลอังกฤษเพียงศาลเดียวที่ตัดสินคดีบนกฎหมายไทย ตัดสินให้คุณหญิงกอแก้วและตนเองแพ้คดีต้องชดใช้เงินจำนวนมหาศาลให้แก่นายนพพร โดยศาลอังกฤษนี้ อ้างความชอบธรรมที่จะฟังความจากนายนพพรข้างเดียว โดยเขียนคำพิพากษาในทำนองว่านายนพพรสุจริต โดยไม่โต้แย้ง หรือเขียนถึงข้อเท็จจริงที่ฝ่ายตนเองในฐานะจำเลยได้นำสืบว่านายนพพรเป็นคนไม่สุจริตไว้ในคำพิพากษาเลย
นายณพ ระบุว่า คำพิพากษาของศาลอังกฤษที่ได้ใช้กฎหมายไทยนี้ได้ถูกศาลแขวงพระนครใต้ของไทยตัดสินกลับแล้วเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ในคดีที่นายนพพรได้ฟ้องตนเองและพวกเป็นคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ ซึ่งศาลไทยได้มีคำพิพากษาว่าไม่มีการโกงเจ้าหนี้ จึงให้ยกฟ้อง
ส่วนความขัดแย้งภายในครอบครัวณรงค์เดช นายณพ กล่าวว่า เป็นเรื่องระหว่างตนเองและพี่น้อง ซึ่งทำให้บิดาต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เป็นเรื่องที่เสียใจที่สุด และไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นกับตนเอง มีมูลเหตุมาจากการเข้าไปซื้อหุ้น WEH แต่พี่และน้องต้องการแบ่งหุ้นไปเป็นของเขาถึง 49% แบบฟรี ๆ ทั้ง ๆ ที่ตนเองเป็นผู้ลงทุนส่วนตัวไม่ใช่ของกงสีที่จะต้องนำมาหาร 3
ทรัพย์สินที่ถือร่วมกันของพี่น้องรอเวลาแบ่งสรรกันมีเพียงทรัพย์มรดกหลายรายการที่คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช มารดากำหนดไว้ในพินัยกรรมให้แบ่งกันระหว่างพี่น้องทั้ง 3 คน มีนายกฤษณ์ ณรงค์เดช ในฐานะพี่ชายตนโตเป็นผู้จัดการมรดก แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการแบ่งออกมาตามพินัยกรรม
ธุรกิจที่มีนายกฤษณ์ นายกรณ์ ณรงค์เดช และตนเอง ถือหุ้นร่วมกันคนละ 1 ใน 3 มีเพียง บริษัท เคพีเอ็น แลนด์ จำกัด เท่านั้น ซึ่งในอดีตได้ทำหน้าที่ดูแลธุรกิจนี้ตามที่ครอบครัวมอบหมาย จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งเรื่องหุ้น WEH จึงถูกกันออกมาไม่ให้ร่วมบริหารจัดการ รวมทั้งการที่ เคพีเอ็น แลนด์ เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นของ บมจ.ไรมอน แลนด์ (RML) ด้วยทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ 1 ใน 3
ขณะที่ธุรกิจส่วนตัวในปัจจุบัน คือ สถาบันดนตรี เคพีเอ็น ที่ได้ทำขึ้นตามความปรารถนาของมารดา จนถึงวันนี้มีสาขาทั้งหมด 26 สาขาทั่วประเทศ ส่วนธุรกิจโรงพยาบาลนวเวช ได้ร่วมลงทุนกับหุ้นส่วนอีก 2 บริษัท
นายณพ กล่าวว่า ที่ผ่านมา เมื่อมีธุรกิจที่น่าสนใจก็จะชวนพี่และน้องทุกครั้ง รวมถึงกรณีการเข้าซื้อหุ้น WEH แต่ได้รับคำตอบว่า “เพ้อฝัน” จึงหาเงินทุนทั้งหมดด้วยตัวเอง เพราะเชื่อมั่นในอนาคตของธุรกิจนี้ แต่เมื่อเข้าไปบริหาร WEH จนมีผลกำไรสามารถจ่ายเงินปันผลได้ พี่น้องกลับต้องการขอแบ่งหุ้น และยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เพื่อบังคับให้โอนหุ้น WEH ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้อง นอกจากนี้ ยังไปฟ้องคดีอาญาว่าคุณหญิงกอแก้วและตนเองปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม เพื่อเป็นการกดดันให้แบ่งหุ้น WEH ซึ่งศาลก็ได้ยกฟ้องแล้วทุกคดี
นายกฤษณ์ยังถูกตนเองฟ้องฐานเป็นผู้จัดการมรดกที่ไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกตามที่ระบุในพินัยกรรมตั้งแต่ปี 56 กลับมีพฤติการณ์เบียดบังค่าเช่าที่ดินทรัพย์มรดกไปเป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งศาลคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก นายกฤษณ์ 12 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และยังมีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้อื่น ๆ ที่นายกฤษณ์อาจจะต้องรับผิดเพิ่มอีกหลายกรณี
“แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมา ผมและลูก ๆ จะพยายามเข้าไปพบคุณพ่อที่บ้านหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับโอกาสให้เข้าไปกราบคุณพ่อเลย เพราะความขัดแย้งของพี่น้อง ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นเลยในครอบครัวของเรา ผมและหลาน ๆ ยังคงรัก และเคารพคุณพ่ออย่างสูงเช่นเดิม และยังคงเฝ้ารอโอกาสที่จะได้เข้าไปกราบคุณพ่อเสมอ”นายณพ กล่าว
ด้านคุณหญิงกอแก้ว เปิดใจครั้งแรกว่า ในชีวิตจนอายุ 70 ปีไม่คิดว่าจะต้องมานั่งแถลงข่าว ชีวิตครอบครัวอยู่อย่างสงบใช้ชีวิตอย่างสบาย ๆ ไม่ต้องการอะไรของใคร วันหนึ่งลูกมาขอความช่วยเหลือ จึงก็ต้องให้ความช่วยเหลือนายณพ เพราะไม่มีใครช่วยเขาเลย และไม่มีใครอยากยุ่งกับ WEH ถ้าดิฉันไม่ได้ซื้อหุ้น WEH ไว้บริษัทอาจถึงขั้นล้มละลาย เพราะธนาคารไทยพาณิชย์ก็จะไม่ให้สินเชื่อ แต่การเข้ามาซื้อหุ้น WEH ไม่ต้องการออกหน้า
“เมื่อวินด์พ้นวิกฤต และทำรายได้ปีละหลายพันล้าน เมื่อนั้นคดีความต่าง ๆ และการกล่าวหาก็มา เพื่อต้องการอยากได้หุ้น ซึ่งถ้าคุณลงทุนคุณก็ต้องได้หุ้น ถ้าคุณไม่ลงทุนคุณก็ไม่มีสิทธิ อันนี้เป็นข้อที่ชัดเจนอยู่แล้ว เมื่อไม่ลงทุนแต่อยากได้หุ้น เมื่อไม่ได้หุ้นก็เบี่ยงเบน หลักฐานความจริงทุกอย่างการเงินเรามีครบ ไม่ใช่พูดไปเรื่อยพูดไม่ครบ เบี่ยงเบน ทำให้คนอื่นได้รับความเสียหาย พูดเพียงบางส่วน
“ดิฉันขอให้สังคมย้อนไปถึงตอนนั้นบริษัทซึ่งไม่มีคุณค่าไม่มีราคาไม่มีใครอยากได้ ดิฉันขอยืนยันว่าไม่ได้โกงใคร ไม่ได้ปลอมลายเซ็นใคร ศาลทั้ง 3 ศาลก็พิพากษาว่าดิฉันไม่ได้โกง ไม่ได้ปลอมลายเซ็นอย่างที่กล่าวหา”
นายวีระวงศ์ จิตรมิตรภาพ ที่ปรึกษากฎหมาย กล่าวว่า การซื้อขายหุ้นระหว่างนายนพพร กับนายณพ เป็นการซื้อหุ้นของ REC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ WEH สัดส่วน 59.45% และเนื่องจาก WEH ที่มีโครงการพลังงานลม 8 โครงการ ดำเนินการไปแล้ว 2 โครงการ และโครงการที่ 3 โครงการวัดตะแบก ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อ 8 โครงการ ได้ชะลอสินเชื่อโครงการวัดตะแบก 4 พันล้านบาท หลังจากที่มีคดีฟ้องร้องเรื่องหุ้น WEH ที่ทางนายนพพรไปฟ้องที่ศาลในอังกฤษ
หากนายนพพรชนะ ก็จะกลับมาเป็นเจ้าของ REC ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ก็จะต้องเบรกการให้เงินกู้ ซึ่งจะทำให้โครงการที่เหลือ 5 โครงการเกิดไม่ได้ และเสี่ยงถูก GE ซึ่งเป็นผู้ผลิตกังหันลมฟ้อง รวมถึง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เป็นคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า ตนเองซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายก็แนะนำให้ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น REC เปลี่ยนมาให้เป็นชื่อคุณหญิงกอแก้วซื้อแทนนายเกษม ในราคา Book Value ที่ 2,400 ล้านบาท (ซึ่งต่อมาโอนไปให้ GML หรือบริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด ซึ่งสุดท้าย GML ถือ WEH 38%) เพื่อที่จะให้ธนาคารไทยพาณิชย์ให้สินเชื่อเพื่อเดินหน้าโครงการต่อไป
ทั้งนี้ นายวีระวงศ์ กล่าวอีกว่า ใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ WEH มีหลายเรื่องสับสน หุ้น WEH ได้กระจายออกไปหลายส่วน ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่การนำหุ้น WEH เข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยประเด็นที่นายนพพรกับนายณพ ที่มีข้อตกลงว่าจะมีการจ่ายส่วนโบนัส 525 ล้านเหรียญ หาก WEH สามารถเดินหน้า 5 โครงการ และเข้าตลาดหุ้นได้ นอกจากส่วนที่นายณพ ได้จ่ายค่าหุ้นไปแล้ว 175 ล้านเหรียญสหรัฐ เรื่องนี้มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมากและลามไปถึงนักลงทุนอื่น เราต้องวิเคราะห์เรื่อง WEH ให้ชัดเจน