รวมรายการ ลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง ประกัน เงินบริจาค คำนวณก่อนยื่นภาษี
ลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง ลดหย่อนบิดา-มารดา บุตร รวมถึงใครที่ซื้อกันชีวิต ประกันสุขภาพ มาเช็กกันว่าแต่ละรายการลดภาษีได้เท่าไหร่
ผู้ที่มีรายได้ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำ ฟรีแลนซ์ จะต้องรู้ก็คือ การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะต้องทำกันเป็นประจำทุกปี รวมถึงวิธีคำนวณภาษีเพื่อที่จะวางแผนลดหย่อนภาษีด้วย ซึ่งแต่ละปีคนที่ไม่รายได้ สามารถเลือกใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามหมวดหมู่ Sanook Money ได้รวบรวมรายการ ลดหย่อนภาษี 2566 เพื่อที่จะให้ทุกๆ คนได้ตรวจสอบก่อนยื่นภาษี 2566 ในปี 2567
รายการลดหย่อนภาษี 2566 สำหรับคนที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
คนโสด
- มีเงินได้ประเภทเดียว ต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีรายได้เกิน 120,000 บาท
- มีเงินได้จากการจ้างแรงงาน และมีเงินได้ประเภทอื่น เช่น รายได้จากเงินปันผล, ฟรีแลนซ์, ค้าขาย และอื่นๆ ต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
- มีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน ต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
คนมีคู่
- มีเงินได้ประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 220,000 บาท
- มีเงินได้ และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท
- มีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่น ที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน ต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท
วิธีคำนวณภาษี 2566
1. นำรายได้ทุกประเภททั้งปีมารวมกัน เช่น เงินเดือน โบนัส เงินจากการค้าขาย เงินปันผล ฯลฯ
2. นำค่าลดหย่อนต่าง ๆ มาลบออกจากรายได้
- กรณีมีเงินได้จากเงินเดือน เงินได้จากตำแหน่งงานที่ทำ ฯลฯ สามารถหักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- หักค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ตามที่มี
3. เมื่อนำค่าลดหย่อนทั้งหมดลบออกจากรายการแล้ว เงินส่วนที่เหลือเรียกว่าเงินได้สุทธิ ต้องนำเงินจำนวนนี้ไปคำนวณภาษีเพื่อเสียภาษีตามขั้นบันได 5%-35%
หลังจากที่คำนวณแล้ว คนที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี จะได้รับการยกเว้นภาษี
รายการลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง
ลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
1. ลดหย่อนส่วนบุคคล : จำนวน 60,000 บาท
2. ลดหย่อนคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ : จำนวน 60,000 บาท
- สำหรับสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรส
- คู่สมรสต้องไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่ยื่นแบบฯ รวมกัน
3. ลดหย่อนบุตร : จำนวน 30,000 บาทต่อคน
- ต้องเป็นบุตรตามกฎหมาย
- บุตรบุญธรรมใช้ได้ไม่เกิน 3 คน
- บุตรอายุไม่เกิน 20 ปี
- หากบุตรอายุ 21-25 ปี ต้องกำลังศึกษาในระดับชั้น ปวส. ขึ้นไป
- บุตรมีเงินได้ในปีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
- ลดหย่อนบุตรคนที่ 2 : จำนวน 30,000 บาทต่อคน
- คลอดบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป ตั้งแต่ปี 2561
- เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
4. ลดหย่อนค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตร : หักค่าใช้จ่ายตามจริงสูงสุดไม่เกินปีละ 60,000 บาท
- ต้องใช้เอกสารใบรับรองแพทย์และใบเสร็จรับเงินจากสถานพยาบาลที่เกิดขึ้นจริงในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 66
- สามีใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีค่าคลอดบุตรได้ไม่เกิน 60,000 บาท ถ้าภรรยาไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่ยื่นภาษีรวมกัน
5. ลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา : จำนวนคนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 4 คน รวม 120,000 บาท
- บิดา-มารดาอายุ 60 ปีขึ้นไป
- มีเงินได้ในปีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
- ลูกสามารถใช้สิทธิได้เพียงคนเดียว
6. ลดหย่อนค่าอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพ : จำนวนคนละ 60,000 บาท
- ผู้พิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ
- ผู้พิการมีเงินได้ในปีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
กลุ่มลดหย่อนภาษี กลุ่มประกันชีวิต-การลงทุน
1. ประกันสังคม : ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง
- ผู้ประกันตนมาตรา 33 ลดหย่อนได้สูงสุด 9,000 บาท
- ผู้ประกันตนมาตรา 39 ลดหย่อนได้สูงสุด 5,184 บาท
- ผู้ประกันตนมาตรา 40 ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 840-3,600 บาท ตามที่จ่ายจริง
2. ประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต : ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
- มีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20% ของดอกเบี้ย
3. ประกันชีวิตคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ : ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
- สามี-ภรรยาต้องจดทะเบียนสมรส
- ต้องมีสถานะเป็นสามี-ภรรยาตลอดทั้งปี
4. ประกันสุขภาพตัวเอง : ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท
- เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตต้องไม่เกิน 100,000 บาท
5. ประกันสุขภาพ บิดา-มารดา : ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
- บิดา-มารดามีเงินได้ในปีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
- บุตรบุญธรรมใช้สิทธิไม่ได้
- บุตรหลายคนหารเฉลี่ยกันได้
6. ประกันชีวิตบำนาญ : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
7. กองทุนรวม SSF (Super Savings Fund) * หรือกองทุนรวม SSF : ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
8. กองทุนรวม RMF (Retirement Mutual Fund หรือ RMF) * : ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
9. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ* : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท ส่วนจำนวนเงินที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
10. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) * : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
11. กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน* : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
12. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) * : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท
13. ลดหย่อนภาษี เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) : ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
*หมายเหตุ ข้อ 6-12 เมื่อรวมเงินที่ซื้อ ประกันชีวิตบำนาญ, กองทุนรวม SSF, กองทุนรวม RMF, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
กลุ่มลดหย่อนภาษี กลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ดอกเบี้ย เงินกู้ยืมเพื่อการมีที่อยู่อาศัย ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- เป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินของตัวเองหรือบนที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรืออาคาร หรือคอนโดมิเนียม โดยเราต้องอยู่อาศัยด้วย เว้นแต่ มีเหตุจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัย
- เป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ เช่น ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐต่าง ๆ โดยทรัพย์สินที่กู้ต้องใช้มาเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันการกู้ (จำนอง) ด้วย
- หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถใช้ลดหย่อนรวมกันได้ทุกแห่ง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ก็ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
กลุ่มลดหย่อนภาษี กลุ่มเงินบริจาค
1. เงินบริจาคพรรคการเมือง : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
2. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ ได้ : ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาคตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
- ต้องเป็นสถานศึกษาที่ ศธ. กำหนด
- บริจาคผ่าน e-Donation เท่านั้น
3. เงินบริจาคให้สถานพยาบาลของรัฐ : ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง (รวมกับเงินบริจาคอื่น ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นแล้ว)
- ต้องเป็นสถานพยาบาลของราชการ
4. เงินบริจาคสนับสนุนการกีฬา : ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง (รวมกับเงินบริจาคอื่น ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นแล้ว)
- ต้องเป็นหน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย
5. เงินบริจาคเพื่อการพัฒนาสังคม : ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง (รวมกับเงินบริจาคอื่น ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นแล้ว)
- ต้องบริจาคให้หน่วยงานที่กำหนด เช่น กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา, กองทุนยุติธรรม และการจัดหาหนังสือ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมการอ่าน
6. เงินบริจาคให้แก่มูลนิธิด้านสาธารณสุข : ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง (รวมกับเงินบริจาคอื่น ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นแล้ว)
- บริจาคผ่าน e-Donation เท่านั้น
- ต้องบริจาคให้มูลนิธิที่กำหนด เช่น มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี, มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หรือมูลนิธิรามาธิบดี
7. เงินบริจาคให้กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม : ตามที่บริจาคจริง (รวมกับเงินบริจาคอื่น ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นแล้ว)
- บริจาคผ่าน e-Donation เท่านั้น
8. เงินบริจาคทั่วไป : ตามที่บริจาคจริง (รวมกับเงินบริจาคอื่น ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นแล้ว)
- เป็นการบริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล เช่น บริจาคให้วัด มูลนิธิ สมาคม สถานสงเคราะห์ ฯลฯ