ลูกหนี้ กยศ. เฮ! หากชำระหนี้เกิน 150% ของเงินกู้ หยุดจ่ายได้เลย

ลูกหนี้ กยศ. เฮ! หากชำระหนี้เกิน 150% ของเงินกู้ หยุดจ่ายได้เลย

ลูกหนี้ กยศ. เฮ! หากชำระหนี้เกิน 150% ของเงินกู้ หยุดจ่ายได้เลย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เว็บไซต์ thebangkokinsight รายงานว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ นัดแรก เห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยจะคำนวณภาระหนี้ของลูกหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันใหม่ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาหนี้กลุ่ม กยศ.จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการช่วยเหลือ จากนี้จะขยายความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ ต่อไปให้ครอบคลุมทั้งระบบ

"ลูกหนี้ที่ยังมีหนี้อยู่กับ กยศ. ที่ยังชำระไม่หมด ให้กลับไปคำนวณเงินต้น และเงินที่ชำระมาว่าเกิน 150% ของเงินที่กู้มาหรือไม่ ถ้าเกิน 150% แล้ว สามารถหยุดจ่ายหนี้ เพราะกลุ่มนี้เมื่อคำนวณดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่ ยังไงหนี้ก็หมดอยู่ดี" นายกิตติรัตน์ กล่าว

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามกฎหมายฉบับใหม่จะมีการคำนวณภาระหนี้ของลูกหนี้ กยศ.ใหม่ โดยปรับลำดับการตัดยอดหนี้ใหม่ จากเดิมเมื่อลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้มาแล้ว จะตัดยอดดอกเบี้ยผิดนัดชำระก่อน ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่ และเงินต้น แต่การคำนวณใหม่ จะปรับลำดับใหม่ เริ่มจากตัดเงินต้นก่อน แล้วจากนั้นจึงตัดดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่ และดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ทำให้เงินต้นลดลงเร็วมากกว่าเดิม

สำหรับ การคำนวณยอดหนี้ กยศ ครั้งนี้ จะครอบคลุมลูกหนี้ประมาณ 3.5 ล้านราย ที่ยังมีสถานะเป็นลูกหนี้ของกองทุน กยศ.หลังจาก พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 โดยการคำนวณจะเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่วันแรกที่ได้ชำระหนี้ให้กับ กยศ.

"ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระมาแล้ว เมื่อคำนวณใหม่จะมีภาระหนี้ลดลงอย่างชัดเจน ส่วนลูกหนี้บางรายที่ยังผ่อนอยู่ยังไม่หมด เมื่อคำนวณใหม่อาจจะหมดหนี้ และปิดหนี้ได้เลย แต่ที่ต้องดูเพิ่มเติมหลังกฎหมายใหม่ออกมา นั่นคือ กลุ่มของลูกหนี้ที่ปิดยอดไปแล้ว กยศ. จะตามไปคำนวณยอดหนี้ให้เช่นกัน" นายลวรณ กล่าว

นายลวรณ กล่าวว่า ในขั้นตอนการดำเนินงาน กยศ.จะไปจัดทำระบบการคำนวณให้เสร็จสิ้นภายใน 5 เดือนนับจากนี้ แต่ที่ประชุมมองว่าเป็นเวลาที่นานเกินไป จึงขอให้มีการทำระบบขึ้นมาแบบง่าย หรือคำนวณด้วยเจ้าหนี้ที่ก่อน เพื่อเร่งคำนวณยอดหนี้ให้ลูกหนี้กลุ่มที่มีความเดือดร้อน และมีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน 2 กลุ่ม ดังนี้

  1. ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องร้อง และอยู่ในชั้นของกรมบังคับคดี จำนวน 4.6 หมื่นคน จะเริ่มทำให้เสร็จในเดือน ธ.ค. 2566
  2. ลูกหนี้ที่จะหมดอายุความในเดือน มี.ค. 2567 จำนวน 4 หมื่นคน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้กับ กยศ. ใหม่

"หากคำนวณได้เร็วจนทำเสร็จทั้ง 2 กลุ่มแล้ว แต่ระบบยังไม่พร้อม เจ้าหน้าที่จะเร่งทำการคำนวณลูกหนี้ กยศ. อื่นๆ อีกเพิ่มเติม เพื่อคำนวณยอดหนี้ใหม่ให้กับกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งจะเป็นข่าวดี และเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับลูกหนี้ กยศ. ทั้งหมด"

ส่วน นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า ลูกหนี้ทุกคนจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ซึ่งมีสถานะลูกหนี้ ตั้งแต่ พ.ร.บ. กยศ. ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ ขณะที่ผู้ค้ำประกันเดิมที่มีอยู่ เมื่อลูกหนี้ได้ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว จะหลุดพ้นจากภาระค้ำประกันทันที โดยเริ่มต้นนำร่องลูกหนี้ในกรุงเทพฯ ก่อน และขยายไปยังภูมิภาคต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook