คลังจ่อชง ครม. ลดภาษี “เหล้า เบียร์ สุราชุมชน” หนุนท่องเที่ยวในประเทศ

คลังจ่อชง ครม. ลดภาษี “เหล้า เบียร์ สุราชุมชน” หนุนท่องเที่ยวในประเทศ

คลังจ่อชง ครม. ลดภาษี “เหล้า เบียร์ สุราชุมชน” หนุนท่องเที่ยวในประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คลังจ่อชง ครม. ลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เตรียมยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้าทุกสนามบิน หนุนท่องเที่ยว

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความเหมาะสม เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของไทย เบื้องต้น คาดว่าจะมีข้อสรุปและนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ เพิ่มให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค.67 ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการบริโภคและภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งนี้ จะรวมไปถึงสุราชุมชนด้วย เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้สึกว่าเมื่อมาเที่ยวประเทศไทย ซึ่งมีทั้งร้านอาหารดีๆ แล้ว ก็ควรจะต้องมีเครื่องดื่มที่ราคาเหมาะสมด้วย ไม่ใช่ราคาลอยอยู่บนฟ้า ต้องทำให้ราคาจับต้องได้ ให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่ามาประเทศไทยแล้วเป็นสวรรค์ของการใช้ชีวิต กิน อยู่ ดื่ม ท่องเที่ยว” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว

พร้อมระบุว่า การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ น่าจะเป็นระยะยาว เพราะกระทรวงการคลังมองไปถึงเรื่องการลงทุนในธุรกิจหลายตัวที่คาดว่าจะมีเข้ามามากขึ้นด้วย

นายลวรณ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังเตรียมพิจารณายกเลิกการอนุญาตจัดตั้งร้านค้าปลอดภาษี (Duty free) ขาเข้าทุกสนามบิน เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนไทยที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศเกิดการจับจ่ายซื้อของภายในประเทศมากขึ้น แทนการซื้อสินค้าในร้านปลอดภาษี ก็จะช่วยให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น

“คนที่ได้อานิสงส์มากที่สุด คือร้านค้า โดยเบื้องต้นทราบว่า ผู้ประกอบการก็ยินดีให้ความร่วมมือกับนโยบายของรัฐบาล” ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ

ส่วนเรื่องที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ การปรับเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าที่ต้องแสดงต่อศุลกากร จากเดิมตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป เป็น 20,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจะช่วยลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.7 ล้านรายต่อปี เหลือประมาณ 500,000 รายต่อปี หรือลดจำนวนคิว/การขอตรวจเอกสารที่ต้องตรวจสินค้า จาก 4,800 คนต่อวัน เหลือเพียง 1,400 คนต่อวัน

รวมทั้งการปรับเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ต้องนำไปแสดงต่อสรรพากร 9 รายการ ได้แก่ เครื่องประดับ, ทองรูปพรรณ, นาฬิกา, แว่นตา, ปากกา, สมาร์ทโฟน, แล็ปท็อปหรือแท็บเล็ต, กระเป๋า (ไม่รวมกระเป๋าเดินทาง), เข็มขัด จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 1 หมื่นบาทขึ้นไป เป็น 4 หมื่นบาทขึ้นไป และของที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้ (carry-on) จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป เป็นตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไป

สำหรับเงื่อนไขการขอคืนภาษีในปัจจุบันนั้น นักท่องเที่ยวต้องมียอดซื้อไม่น้อยกว่า 2,000 บาทต่อร้านต่อวัน และจากการปรับหลักเกณฑ์ข้างต้นนี้ จะช่วยลดขั้นตอนการขอคืนภาษีของนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้ามูลค่ารวมไม่ถึง 20,000 บาท สามารถไปขอรับคืนภาษีจากเจ้าหน้าที่สรรพากรได้ โดยไม่ต้องผ่านพิธีการทางศุลกากรแต่อย่างใด

“ทั้งหมดนี้ คือเครื่องมือที่กระทรวงการคลังมี และพยายามใช้ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในการมาเที่ยวประเทศไทย ทำให้เขารู้สึกว่ามีความสุข ตั้งแต่มาเที่ยวจนกลับบ้าน เป็นความพยายามของกระทรวงการคลังและรัฐบาล เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นให้กับภาคการท่องเที่ยว ให้เขารู้สึกว่าประเทศไทยน่ามาท่องเที่ยว” นายลวรณ กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook