ใบ 50 ทวิ คืออะไร สำคัญอย่างไร ขอได้ที่ไหน?

ใบ 50 ทวิ คืออะไร สำคัญอย่างไร ขอได้ที่ไหน?

ใบ 50 ทวิ คืออะไร สำคัญอย่างไร ขอได้ที่ไหน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้จัก "ใบ 50 ทวิ" หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เอกสารสำคัญที่ใช้ยื่นภาษี ขอได้ที่ไหน ถ้าหายต้องทำอย่างไร

เข้าสู่ฤดูการยื่นภาษีปี 2566 สิ่งที่ผู้มีเงินได้ ห้ามลืมคือ หลักฐาน หรือเอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ใบ 50 ทวิ เรามาทำความรู้จักเอกสาร และหลักฐานชิ้นสำคัญนี้กัน

tw

ใบ 50 ทวิ คืออะไร?

ใบ 50 ทวิ หรือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย คือใบที่ใช้เป็นหลักฐานที่จะแสดงรายละเอียดว่า มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายเงินนำส่งให้รัฐไปก่อนเท่าไหร่ จากที่ต้องจ่ายจริงคือเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่

ใบ 50 ทวิ สำคัญอย่างไร?

  • เป็นตัวที่จะระบุได้ว่าเมื่อคำนวณรายได้ทั้งปีแล้ว เรามีภาระภาษีที่แท้จริงเท่าไหร่ และได้จ่ายผ่านการถูกหัก ณ ที่จ่ายไปก่อนแล้วเท่าไหร่
  • ในกรณีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไปนั้น น้อยกว่าที่ต้องจ่ายจริง รัฐจะต้องเรียกจ่ายค่าภาษีเพิ่ม
  • ในกรณีที่ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายมากกว่าที่ต้องจ่ายจริง รัฐจะต้องคืนค่าภาษีให้

ใบ 50 ทวิ จะต้องมี 2 ฉบับเหมือนกัน ตามที่กรมสรรพากรกำหนด

  • ฉบับที่ 1 สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ใช้แนบพร้อมกับการแสดงรายการภาษี
  • ฉบับที่ 2 สำหรับให้ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เก็บไว้เป็นหลักฐาน

ใครเป็นผู้ออก ใบ 50 ทวิ และหักภาษี ณ ที่จ่าย?

  • คนที่มีหน้าที่ออกใบ 50 ทวิ และหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องเป็นผู้ที่จ่ายเงินให้เรา เช่น นายจ้าง หรือบริษัทของผู้เสียภาษี
  • ในกรณีลูกจ้างบริษัท ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายออกให้ก่อน และออกใบ 50 ทวิ ให้เราเป็นหลักฐานยื่นภาษี ก็คือนายจ้าง
  • กรณีพนักงานเงินเดือน มีข้อสังเกตว่าภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายแต่ละเดือน จะคำนวณการประมาณการรายได้ทั้งปี หักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่างๆ เท่าที่นายจ้างมีข้อมูล แล้วคำนวณเฉลี่ยเพื่อหัก ณ ที่จ่ายเป็นรายเดือนไป
  • หากนายจ้างประเมินว่า รายได้ทั้งปียังไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี ก็อาจจะไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ยังทำหน้าที่ออกใบ 50 ทวิ ให้เป็นหลักฐานเช่นเดิม
  • ในใบ 50 ทวิ ของพนักงานเงินเดือน จะมีเงินสมทบประกันสังคม และเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี) ให้ระบุให้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐานลดหย่อนภาษีด้วยประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปในตัว

ใบ 50 ทวิ จะได้รับในกรณีใดบ้าง?

  • กรณีฟรีแลนซ์ที่รับค่าจ้าง ผู้จ้างจะออกใบ 50 ทวิ ให้ทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% และถ้ายอดที่จ่ายเป็นจำนวนไม่ถึง 1,000 บาท ก็ไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
  • กรณีจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ค่าบำเหน็จ ใบ 50 ทวิ จะถูกออกให้ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ของปี ถัดจากปีที่มีการหัก ณ ที่จ่าย แต่ถ้าผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ออกจากงานระหว่างปีทำงาน บริษัทหรือนายจ้างจะออกใบ 50 ทวิ ให้ภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน
  • ออกให้ทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส หรือกรณีที่มีการจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก, จ่ายเงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร, จ่ายค่าเช่าทรัพย์สิน (ไม่รวมถึงอาคาร), จ่ายเงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น วิศวกรรม การบัญชี กฎหมาย การประกอบโรคศิลป์ เป็นต้น, จ่ายค่าโฆษณา รวมไปถึงการจ่ายรางวัลประกวดแข่งขัน หรือชิงโชค
  • ออกให้ทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(2), (3), (4) หรือการจ่ายดอกเบี้ย, โบนัสแก่ผู้ถือหุ้น, ผลประโยชน์จากการกู้ยืม, ผลประโยชน์จากการโอนหุ้น, การเช่าทรัพย์สิน, ค่าจ้างนักแสดง, ค่าวิชาชีพอิสระ เป็นต้น

ทำใบ 50 ทวิ หาย ยื่นภาษีได้หรือเปล่า แก้ไขอย่างไร?

  • ให้ผู้จ่ายเงินออกให้ใหม่ ไม่สามารถขอให้กรมสรรพากรตามที่หลายคนเข้าใจผิดกัน
  • หากขาด หรือชำรุด สามารถขอให้ผู้จ่ายเงินออกใบแทนใบ 50 ทวิให้ได้ โดยถ่ายเอกสาร หรือพิมพ์เอกสารสำเนาคู่ฉบับ ซึ่งผู้ออกใบ 50 ทวิเก็บไว้ และเขียนข้อความว่า "ใบแทน" ด้านบนเอกสาร จากนั้นลงลายมือชื่อรับรอง

กรณีได้รับเงินมาแบบไม่มีใบ 50 ทวิ ไม่ต้องยื่นภาษี?

  • ไม่ใช่ เพราะใบ 50 ทวิ เป็นหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ไม่ใช่หนังสือรับรองเงินเดือน ฉะนั้น ถ้าเรามีเงินได้ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมาย ยังไงก็ต้องเสียภาษีเสมอ ส่วนหลักฐานที่จะใช้ อาจอิงจากสัญญาจ้างงาน หรือ Statement บัญชีธนาคารที่รับเงินได้ ดังนั้น ถ้าเราหนีภาษีอาจเสี่ยงโทษจำคุก และปรับ ฐานเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook