สรรพากร บังคับทุกบริษัทส่งข้อมูลหักภาษีออนไลน์ แก้เผ็ดแจ้งเท็จหักภาษี ณ ที่จ่าย
กรมสรรพากร บังคับทุกบริษัทส่งข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ด้วยระบบออนไลน์ เพื่อป้องกันการปลอมแปลงหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย
นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรเตรียมบังคับให้ทุกบริษัทจะต้องส่งเงินได้ของพนักงานเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันการปลอมแปลงหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ภายในรอบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2567 (เริ่มยื่นวันที่ 1 มกราคม – 8 เมษายน 2568)
“ก่อนหน้านี้ กรมใช้ระบบสมัครใจในการนำส่งการหักภาษี ณ ที่จ่าย ว่าจะนำส่งเป็นกระดาษหรือทาง ไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ตั้งแต่ปีภาษี 2567 เป็นต้นไป ทุกบริษัทจะต้องนำส่งเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำให้พนักงานที่มีเงินเดือนทุกรายที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถเรียกดู ใบรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในระบบ My Tax Account ตั้งแต่การยื่นภาษีประจำปี ในช่วง 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป” นายวินิจ กล่าว
สำหรับการยื่นเป็น ไฟล์อิเล็กทรอนิกส์นั้น จะช่วยลดขั้นตอนการทำงานของบริษัทที่เป็นผู้หัก เงินได้ โดยไม่ต้องเก็บเอกสารเป็นกระดาษอีกต่อไป ซึ่งเป็นภาระและต้นทุนในการจัดเก็บ และที่สำคัญ เป็นการป้องกันการปลอมแปลงหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ด้วย เนื่องจากผ่านมา มีพนักงานลูกจ้างของบริษัทมีการปลอมแปลงหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายกันมาก อีกทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานที่เป็นลูกจ้าง ที่มีเงินได้จากหลายแหล่ง สามารถเห็น การหักภาษี ณ ที่จ่าย ของบริษัทต่างๆ ที่เป็นผู้จ่ายเงินได้ให้กับตนเอง ไม่จำเป็นต้องไปตระเวนเพื่อขอหนังสือรับรองจากแต่ละบริษัท
ในอนาคตกรมสรรพากร ยังจะเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมด ให้สามารถเข้าสู่ระบบ My Tax Account ซึ่งเป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี
“แผนของกรมสรรพากรคือ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเงินได้และค่าลดหย่อนต่างๆของพนักงานเข้ามาไว้ในระบบทั้งหมด เพื่อให้กรมสรรพากรสามารถแจ้งไปยังนายจ้างว่า ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในระดับที่พอดี ไม่หักไว้เกิน จนต้องมายื่นขอคืนในภายหลัง”นายวินิจ กล่าว