คลัง เผยเศรษฐกิจเดือน ม.ค. 67 สัญญาณดีขึ้นแรงหนุนจากท่องเที่ยว-บริโภค-ส่งออก

คลัง เผยเศรษฐกิจเดือน ม.ค. 67 สัญญาณดีขึ้นแรงหนุนจากท่องเที่ยว-บริโภค-ส่งออก

คลัง เผยเศรษฐกิจเดือน ม.ค. 67 สัญญาณดีขึ้นแรงหนุนจากท่องเที่ยว-บริโภค-ส่งออก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือน ม.ค.67 ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.67 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า (ธ.ค. 66)

ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า : โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือน ม.ค.67 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ธ.ค.66) 9.4% ขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 7.6% สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 1.1% รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือน ม.ค.67 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 0.6% นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือน ม.ค.67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 62.9 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และสูงสุดในรอบ 47 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า : โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนม.ค.67 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -26.5% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ธ.ค.66) 2.1% สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -7.2% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า -2.8% ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -3.3%

มูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อน : โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนม.ค.67 อยู่ที่ 22,649.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 10% และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า เพิ่มขึ้น 9.2% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ปรับตัวดีขึ้นในตลาดทวีปออสเตรเลีย อาเซียน-5 และสหรัฐฯ ที่ขยายตัว 27.2% 18.1% และ 13.7% ตามลำดับ รวมทั้งกลุ่มตลาดอื่น ๆ อาทิ ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ที่ขยายตัวได้สูงถึง 64.6%

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน สำหรับภาคบริการมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน : โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนม.ค.67 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม 3.04 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 41.5% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ รัสเซีย และอินเดีย ตามลำดับ

ขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนม.ค.67 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -4.4% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า -0.2% สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนม.ค.67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.6 จากระดับ 88.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน และภาคการส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลก

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี : สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนม.ค.67 อยู่ที่ -1.11% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.52% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธ.ค.66 อยู่ที่ 61.3%ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอก ยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนม.ค.67 อยู่ในระดับสูงที่ 221.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook