ค่าเงินบาทวันนี้ 29 ก.พ. 67 เปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.97 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น

ค่าเงินบาทวันนี้ 29 ก.พ. 67 เปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.97 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น

ค่าเงินบาทวันนี้ 29 ก.พ. 67 เปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.97 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ค่าเงินบาทวันนี้ 29 ก.พ. 67 เปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.97 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.06 บาทต่อดอลลาร์ คาดกรอบเงินบาทในช่วง 35.75-36.20 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุค่าเงินบาทวันนี้เปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.97 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.06 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 35.95-36.06 บาทต่อดอลลาร์) ตามการย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2023 ครั้งที่ 2 ออกมา +3.2% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบกับเป็นรายปี ซึ่งน้อยกว่าประมาณการครั้งแรกและคาดการณ์ของตลาดที่ +3.3% นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ คืนวันพฤหัสฯ นี้ และดัชนี ISM ภาคการผลิต ในคืนวันศุกร์ ทำให้การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังเป็นไปอย่างจำกัด อนึ่ง การย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นราว +10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ระยะสั้นของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินบาท

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE และดัชนี ISM ภาคการผลิต ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ออกมาก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว อาทิ Alphabet -1.8%, Nvidia -1.3% กดดันให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ย่อตัวลง -0.55% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.17%

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงทะลุระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ไปบ้างในวันก่อนหน้า ซึ่งเรามองว่า ส่วนหนึ่งก็มาจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง GDP ในไตรมาสที่ 4 ขณะเดียวกัน เงินบาทก็เผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ ในช่วงปลายเดือน รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่น หลังเงินเยนได้อ่อนค่าลงพอสมควรในช่วงนี้ แต่โดยรวมเรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัวลักษณะ sideways down เนื่องจากปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ลดลงไปบ้าง แต่ทว่า เงินบาทก็ยังขาดปัจจัยหนุนการแข็งค่าขึ้นที่ชัดเจน

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ในคืนนี้ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ซึ่งหากออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่มั่นใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot หรือ จังหวะการลดดอกเบี้ย (Timing) อาจมีการเลื่อนออกไปอีกจากการประชุมเดือนมิถุนายน แต่โดยรวมเฟดอาจสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ โดยในกรณีดังกล่าว เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยิ่งกดดันให้ผู้เล่นในตลาดขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ กดดันให้บรรยากาศในตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ซึ่งจะหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นไปอีก นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจยิ่งกดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลงแรง ส่งผลให้โดยรวมเงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.15-36.20 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

ในทางกลับกัน หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ชะลอตัวลงตามคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาดเล็กน้อย เราคาดว่า เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ได้ปรับตัวลดลงไปมากนัก ตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง โดยในกรณีนี้ อาจเห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง ทดสอบโซนแนวรับ 35.75-35.80 บาทต่อดอลลาร์

เราขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.90-36.10 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเมินกรอบเงินบาทในช่วง 35.75-36.20 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook