สศช. ชี้หนี้ครัวเรือนยังน่าห่วง จับตาสัญญาณ NPL

สศช. ชี้หนี้ครัวเรือนยังน่าห่วง จับตาสัญญาณ NPL

สศช. ชี้หนี้ครัวเรือนยังน่าห่วง จับตาสัญญาณ NPL
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2566 ทั้งสถานการณ์แรงงาน ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ปัญหาสุขภาพ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ โดยพบว่าหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 3/2566 มีมูลค่ารวม 16.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.3% แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนแต่ก็ถือว่าสูง โดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.9%

แม้ว่าครัวเรือนจะชะลอการก่อหนี้เกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็น 3.5% จาก 3.2% ของไตรมาสที่ผ่านมา ด้านคุณภาพสินเชื่อ พบว่าด้อยลงทุกประเภทสินเชื่อ โดย NPL มีมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเป็น 2.79% เพิ่มขึ้นจาก 2.71% ในไตรมาสก่อน

สศช. มีข้อเสนอแนะในประเด็นหนี้สินครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้

  1. การติดตามผลของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน อีกทั้งต้องติดตามการเข้ารับความช่วยเหลือของลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง
  2. การเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ที่สะท้อนการขาดสภาพคล่องของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น
  3. การติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยต้องติดตามความสามารถในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ และอาจต้องผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอุปสรรคการให้กู้ยืมกับกลุ่มลูกหนี้นอกระบบ ควบคู่กับการติดตามความสามารถในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจก่อหนี้นอกระบบได้ในอนาคต

การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น ว่างงานลดลง

สำหรับ การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ 0.81% หรือมีผู้ว่างงาน 3.3 แสนคน โดยลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน และไม่เคยทำงานมาก่อน

ผู้มีงานทำ มีจำนวนทั้งสิ้น 40.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.7% โดยการจ้างงานในภาคเกษตร ขยายตัว 1.0% ส่วนการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรม ขยายตัว 2.0% โดยสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ขยายตัวสูงสุดที่ 8.0% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ภาพรวมปี 2566 อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 98.68% เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยผู้มีงานทำ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.8% ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของการจ้างงาน ทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและสาขาก่อสร้าง ขณะที่อัตราการว่างงานโดยรวม ปี 66 อยู่ที่ 0.98% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562

ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่

  1. ความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต ซึ่งโครงสร้างการจ้างงานของอุตสาหกรรมการผลิตในปี 2565 ยังเน้นแรงงานไม่มีฝีมือ มีสัดส่วนถึง 43.6% เพิ่มขึ้นจาก 26.2% ในปี 2560 อีกทั้งสถานประกอบการจำนวนมาก ต้องการเพียงแรงงานทักษะพื้นฐาน
  2. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในระดับ ปวช. และ ปวส. โดยระดับดังกล่าวมีผู้สมัครงานต่ำกว่าตำแหน่งงานว่างถึง 6.8 และ 7.1 เท่า ตามลำดับ
  3. การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการใช้ AI ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน โดยควรมีการ upskill/reskil ด้าน AI แรงงานในตลาด ผลิตแรงงานรุ่นใหม่ให้มีทักษะด้าน AI และทักษะที่เกี่ยวข้อง

ปี 66 นักดื่ม-สิงห์อมควันเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของการบริโภค

นายดนุชา กล่าวว่า ไตรมาส 4/2566 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพิ่มขึ้น 2.8% โดยการบริโภคเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 4.9% ขณะที่การบริโภคบุหรี่ลดลง 0.7% สำหรับภาพรวมปี 2566 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการฟื้นตัวของการบริโภค และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ ที่อาจดึงดูดให้มีการเปิดสถานบันเทิงเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้นักดื่มมีโอกาสเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และการสูบบุหรี่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันและเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook