พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ลดลง 0.77%

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ลดลง 0.77%

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ลดลง 0.77%
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ลดลง 0.77% ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 สาเหตุยังคงป็นราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร และพลังงาน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เท่ากับ 107.22 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเท่ากับ 108.05 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.77% ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 สาเหตุสำคัญยังคงเป็นราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสัตว์ และผักสด ที่ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึงน้ำมันดีเซล และค่ากระแสไฟฟ้า ราคาต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐประกอบกับฐานราคาเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง สำหรับสินค้า-บริการอื่นๆ ราคายังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ

อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลเดือนมกราคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลง 1.11% ยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ อยู่ที่อันดับ 4 จาก 135 เขตเศรษฐกิจ ที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย) สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนแรกของปี 2567 ที่หลายประเทศชะลอตัวลง

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคม 2567 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ปัจจัยสนับสนุนมาจากมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ด้วยการตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าที่ 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน และที่ 4.18 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนทั่วไป รวมทั้งมาตรการตรงราคาน้ำมัน ดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2567 รวมถึงฐานราคาที่สูงในปีก่อนหน้าของเนื้อสุกรและผักสด และเศรษฐกิจของไทยขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ที่สำคัญปรับสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้ามีราคาสูงขึ้น สภาพอากาศ ที่มีความแปรปรวนในช่วงท้ายของปรากฏการณ์เอลนิโญ รวมทั้งการเข้าสู่ฤดูร้อนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้อุปสงค์และราคาของสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบิน

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่าง -0.3-1.7% เป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยหากรัฐบาลไม่ได้ต่อมาตรการลดค่าครองชีพที่จะสิ้นสุด 19 เมษายนนี้ ก็คาดว่าจะทำให้เงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกได้ในเดือน พฤษภาคม 2567 และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook