คลังประกาศหลักเกณฑ์ไลเซ่นส์ Virtual Bank กำหนดเริ่มธุรกิจใน 1 ปี
กระทรวงการคลัง ออกประกาศหลักเกณฑ์การจัดตั้ง Virtual Bank กำหนดวิธีการ เงื่อนไข การขอประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์แบบไร้สาขา คาดใช้เวลาร่วมพิจารณากับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใน 9 เดือน และไม่กำหนดจำนวนใบอนุญาต โดยหลังได้รับอนุญาตจาก รมว.คลังแล้ว ต้องพร้อมเปิดบริการภายใน 1 ปี
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เพื่อเพิ่มประเภท และจำนวนผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มระดับการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินและส่งผลดีต่อประชาชน โดยได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567
สาระสำคัญของประกาศฯ มีดังนี้
1. กำหนดให้ผู้ขออนุญาต ต้องมีคุณสมบัติที่แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ และทรัพยากรที่เพียงพอ ในการช่วยสนับสนุนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ความเชี่ยวชาญในการใช้งานเทคโนโลยี และการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล รวมทั้งมีธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อให้ผู้ที่ได้รับอนุญาต สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความน่าเชื่อถือ
2. ผู้ขออนุญาต สามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ประกาศฯ มีผลบังคับใช้ พร้อมกับหลักฐาน และข้อมูลประกอบการพิจารณาตามที่ประกาศฯ กำหนด
3. ธปท. และกระทรวงการคลัง จะร่วมกันพิจารณาคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ภายใน 9 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอ
4. เมื่อได้รับอนุญาตจาก รมว.คลังแล้ว ผู้ขออนุญาตต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น ความมั่นคง การบริหารความเสี่ยง เป็นต้น และเริ่มดำเนินธุรกิจภายใน 1 ปี
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประกาศฉบับนี้ เปิดโอกาสให้แก่ผู้ขออนุญาตที่มีศักยภาพ และผ่านคุณสมบัติ มีโอกาสได้ประกอบธุรกิจ โดยไม่ได้กำหนดจำนวนใบอนุญาตไว้แต่อย่างใด ซึ่ง ธปท. จะพิจารณาใบอนุญาต Virtual Bank ในจำนวนที่เหมาะสมกับระบบสถาบันการเงินในประเทศไทย เพื่อให้อยู่ในระดับที่จะกระตุ้นการแข่งขันเพื่อประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน ผู้ใช้บริการ และระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวม และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ
นายพรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank สอดคล้องกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการส่งเสริม Digital Economy และพัฒนา Infrastructure ในระบบการเงิน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Financial Center ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนในอัตราที่เหมาะสม
“กระทรวงการคลัง คาดหวังว่า Virtual Bank จะเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการทางการเงิน และเร่งการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งในที่สุดแล้ว จะเป็นการยกระดับประสิทธิภาพของระบบการเงิน และช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ” โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุ
เดินหน้า Virtual Bank หนุนศก.ดิจิทัล มุ่งสู่ Hub การเงินอาเซียน
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวว่า “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” มุ่งเน้นบริการทางการเงินแก่ 1. ผู้ไม่มีรายได้ประจำ และ SMEs 2. กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ (Underserved) และ 3. กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) 4. กลุ่มเข้าไม่ถึงสินเชื่อและกลุ่มเป็นหนี้นอกระบบ
ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา กำกับโดย ธปท. เสมือนธนาคารพาณิชย์อื่น โดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แต่ธนาคารไร้สาขาจะไม่ใช้ระบบเงินฝาก ระบบสินเชื่อ Internet Banking ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และ ธปท.จะร่วมกันพิจารณาคำขออนุญาตภายใน 9 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดการยื่นคำขอ ต้องจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดและเปิดบริการใน 1 ปี และต้องตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย และมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ในระยะแรก และไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในระยะปกติ สามารถเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อผสานความเชี่ยวชาญเฉพาะได้
โดยไม่จำกัดจำนวนใบอนุญาต (เดิมจำกัด 3 ราย) เนื่องจากกระทรวงการคลัง ต้องการเปิดกว้างแก่ผู้มีศักยภาพและผ่านคุณสมบัติ โดยให้ธปท. พิจารณาใบอนุญาตในจำนวนที่จะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน และไม่เสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน