ไขข้อสงสัย 17 ข้อ กับโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
เงื่อนไข 17 ข้อ กับโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต พรรคเพื่อช่วยคลายปมทุกประเด็น
หลังจากที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 พร้อมเปิดเผยเงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ทั้งเรื่องเงินฝาก และรายได้ทั้งปี ไปนั้น
ล่าสุด เพจเฟสบุ๊กพรรคเพื่อไทย โพสต์ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยได้รวบรวมและแจกแจงรายละเอียด 17 ข้อดังต่อไปนี้
จากข้อสงสัยที่ประชาชนประชาชนตั้งคำถาม และมีการเผยแพร่ข้อมูลของเงื่อนไขโครงการ #ดิจิทัลวอลเล็ต ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโครงการฯ พรรคเพื่อไทยจึงรวบรวมข้อสังเกตและข้อสงสัยต่างๆ มาตอบให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจกับการดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเลต ณ ที่นี้
1. เฉพาะคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่จะได้รับเงินดิจิทัล 10,000
- ตอบ: ประชาชนสัญชาติไทยจำนวน 50 ล้านคน เกณฑ์ คือ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ และ สถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
2. คนถือบัตรคนจน ใช้ได้มั้ย?
- ตอบ: ลงทะเบียนได้ทุกคน แต่ผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด
3.ผู้สูงอายุ ใช้ได้มั้ย
- ตอบ: สามารถเข้าร่วมโครงการได้ หากมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่โครงการกำหนด
4. เงื่อนไขเยอะขนาดนี้ จะมีใครได้ใช้ แล้วจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงมั้ย เอาอะไรมาวัด
- ตอบ : ปัจจุบันคณะกรรมการฯ ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งคณะอนุกรรมการจะได้กำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทั้งหมดของโครงการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อไป
5. จำกัดแค่ร้านเล็กในชุมชนเท่านั้น?
- ตอบ : สามารถซื้อสินค้าในร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อ แต่ไม่รวมห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ อย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า ตามนิยามและเงื่อนไขที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
6. ร้านค้าขนาดเล็ก (ร้านชุมชน) ขึ้นเงินทันทีไม่ได้ ต้องเอาไปซื้อของต่อ (เค้าสายป่านสั้น) สร้างภาระให้ร้านเล็กมากกว่าหรือเปล่า?
- ตอบ : เงื่อนไขดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบมากขึ้น แม้ร้านค้าขนาดเล็กไม่สามารถถอนเงินสดได้ แต่นำยอดเงินที่มีในแอปพลิเคชันไปใช้จ่ายต่อได้ทันทีกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ
7.ทำแบบนี้ ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ๆ ของเจ้าสัว ก็รวยอยู่ดี แล้วจะช่วยรายย่อยได้จริงหรือ?
- ตอบ : โครงการออกแบบให้ประชาชนซื้อสินค้าจากร้านค้าขนาดเล็กภายในอำเภอในการใช้จ่ายรอบแรก และร้านค้าขนาดเล็กดังกล่าวสามารถใช้จ่ายต่อกับร้านค้าทุกประเภทได้ จึงเกิดประโยชน์กับร้านค้าขนาดเล็กในชุมชนเป็นหลัก
8.รายย่อยที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษี จะทำยังไง จะได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้
- ตอบ : ร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ แต่หากไม่อยู่ในระบบภาษี จะไม่สามารถถอนเงินสดจากโครงการได้
9.ยังมีรัศมีบังคับใช้อยู่มั้ย หรือใช้ที่ไหนก็ได้
- ตอบ
- 1. การใช้จ่ายของประชาชนกับร้านค้าจะต้องใช้จ่ายภายในอำเภอ
- 2. การใช้จ่ายของร้านค้ากับร้านค้าไม่จำกัดพื้นที่
10. ทำไมต้องทำ Super App ใหม่ ไม่ใช้แอปพลิเคชัน “เป๋าตังค์”
- ตอบ : คณะกรรมการฯ มีเป้าหมายพัฒนาระบบของโครงการฯ ให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่นๆ ในลักษณะ Open Loop ด้วย
11.งบทำ Super App เป็นช่องโหว่ ให้เกิดการทุจริตได้
- ตอบ : นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
12. ไหนบอกไม่กู้เงินไง?
- ตอบ : เป็นการบริหารจัดการงบประมาณจาก 3 แหล่ง ได้แก่
- การบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 : 175,000 ล้านบาท
- การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ : 172,300 ล้านบาท
- งบประมาณปี 2568 : 152,700 ล้านบาท
13. ธ.ก.ส.มีเงินจำกัด มีสภาพคล่องจากเงินฝาก 100% ที่ 1.8 ล้านล้าน ตอนนี้มีสินเชื่อแล้ว 1.2 ล้านล้าน สภาพคล่องไม่ได้เยอะขนาดนั้น
- ตอบ : ปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการดำเนินโครงการฯ และสามารถระดมเงินฝากเพิ่มเติมได้เมื่อมีความจำเป็น
14.ธ.ก.ส. เป็น ATM ของรัฐบาลทุกสมัย
- ตอบ : ธ.ก.ส. เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะเพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐ ดังนั้น หากรัฐบาลมีนโยบายที่จำเป็นต้องดำเนินการผ่าน ธ.ก.ส. และอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. ก็สามารถดำเนินการได้
15.ใช้งบประมาณเยอะขนาดนี้ สร้างหนี้สาธารณะในอนาคต เป็นภาระประชาชน
- ตอบ : โครงการฯ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ บรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจสามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศ
16. คนที่ไม่ได้เงินจากโครงการนี้จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง
- ตอบ : แม้จะไม่ได้รับเงินจากโครงการฯ แต่เมื่อโครงการฯ เริ่มดำเนินการแล้ว จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท จะช่วยให้เกิดการใช้จ่าย การลงทุน การผลิต การจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
17. มีระยะเวลาในการใช้จ่ายมั้ย
- ตอบ : โครงการฯ จะเริ่มให้ประชาชนใช้จ่ายประมาณไตรมาสที่ 4 ปี 2567 สำหรับระยะเวลาและเงื่อนไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้จ่ายในโครงการ คณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการฯ จะได้มีการกำหนดรายละเอียดและประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป.