วันแรงงาน ยังไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ คาดเดือน ต.ค. 67 รู้ชัดชัวร์

วันแรงงาน ยังไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ คาดเดือน ต.ค. 67 รู้ชัดชัวร์

วันแรงงาน ยังไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ คาดเดือน ต.ค. 67 รู้ชัดชัวร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงแรงงาน ยืนยัน ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ในวันแรงงาน 1 พ.ค. 67 แค่ประกาศเจตนารมย์เท่านั้น คาด 1 ต.ค. นี้ รู้ผลชัดเจน อาชีพไหน จังหวัดไหนปรับขึ้นบ้าง

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 พ.ค. นี้ จะประกาศเป็นนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ คาดว่าจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.67 เป็นต้นไป ซึ่งตามข้อกฎหมายที่กำหนดให้คณะกรรมการไตรภาคี เป็นผู้มีอำนาจประกาศปรับขึ้นค่าแรงได้ จึงจะนัดประชุมในวันที่ 14 พ.ค. นี้ เพื่อรองรับประกาศการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ

“วันที่ 14 พ.ค. 67 จะประชุมไตรภาคีอีกครั้ง และนำเสนอว่าเป็นเดือนต.ค. ส่วนวันที่ 1 พ.ค.เป็นการประกาศในภาพรวมทั้งประเทศ 400 บาท ซึ่งจะมีผล 1 ต.ค.นี้”นายพิพัฒน์ ให้สัมภาษณ์ทางรายการโทรทัศน์เช้านี้

นายพิพัฒน์ เชื่อว่าในการประชุมวันที่ 14 พ.ค. นี้ ไม่น่าจะมีปัญหาขัดข้องใดๆ กับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากขณะนี้ราคาสินค้าต่างๆ ได้ปรับขึ้นไปล่วงหน้าแล้ว จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องปรับขึ้นค่าแรงให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.67 จะมีบิ๊กเซอร์ไพร์สเริ่มปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาทต่อวันนั้น อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเป็นแค่เพียงการประกาศเป็นแนวนโยบายว่าจะปรับขึ้นโดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. นี้เป็นต้นไป แต่ไม่ใช่การเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 67

ด้านนายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ไม่ได้มีการขึ้นทันที เพราะการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้เนื่องจากเป็นนักการเมือง และหากมีนักการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมจะถูกมองว่าการเมืองแทรกแซง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทำได้เป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น

นายคารม กล่าวว่า การประกาศขึ้นค่าแรงจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 (ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน) ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการไตรภาคีในทุกเดือน โดยในแต่ละการประชุมจะมีความชัดเจนว่าอาชีพไหนสมควรขึ้นค่าแรงบ้าง และขึ้นเป็นจำนวนเท่าไร สำหรับการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างฯ ครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 67 จะพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ทำให้มีความชัดเจนว่าอาชีพไหน หรือจังหวัดใดได้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทบ้าง

“รัฐบาลให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานมาโดยตลอด แรงงานคือผู้ที่มีส่วนช่วยการพัฒนาของประเทศ การดูแลแรงงานจึงเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายของรัฐบาล จะต้องมีการเจรจาทั้ง 3 ฝ่าย ระหว่างแรงงาน ผู้ว่าจ้าง และรัฐบาล ผ่านคณะกรรมการค่าจ้างฯ เพื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ในระดับเหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่ 400 บาท โดยเร็วที่สุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน” นายคารม กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook