ส่องรายได้-กำไร CARS24 แพลตฟอร์มขายรถมือสองในไทย หลังเลิกกิจการ
เปิดผลประกอบการ CARS24 แพลตฟอร์มขายรถมือสองในไทย หลังประกาศปิดกิจการทั่วประเทศ
จากกรณีที่บริษัทขายรถมือสองชื่อดังในไทยอย่าง CARS24 ประกาศปิดกิจการทุกสาขาทั่วประเทศ ในวันที่ 25 เม.ย. 67 ส่งผลให้พนักงานหลายชีวิตตกงานทันที ซึ่งทางบริษัท CARS24 ก็มีการจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงาน ส่วนสาเหตุที่บริษัท CAR24 ประกาศยุติธุรกิจเนื่องมาจากราคารถมือสองร่วงลงอย่างหนัก อีกทั้งจำนวนรถถูกยึดเข้าลานประมูลจนล้นลาน ระบายออกได้ยาก จนผู้บริหาร (บริษัทสัญชาติอินเดีย) ประเมินถึงการดำเนินธุรกิจในอนาคตว่าอาจสุ่มเสี่ยงที่จะขาดทุนหนักไป จึงเป็นเหตุให้ต้องตัดสินใจปิดกิจการทันที
สำหรับ ผลประกอบการธุรกิจของบริษัท CARS24 จากการตรวจสอบข้อมูล จากฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ผ่านระบบวิเคราะห์ข้อมูลบริษัทครบวงจรของ Creden Data พบว่า บริษัท CARS24 หรือ บริษัท คาร์ส24 กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 64 พบรายชื่อคณะกรรมการบริษัท เป็นชาวต่างชาติ แจ้งดำเนินธุรกิจการขายยานยนต์เก่าชนิดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ รถตู้ และรถขนาดเล็กที่คล้ายกัน ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 920,339,700 บาท โดยมีผลประกอบการย้อนหลังดังนี้
- ปี 2565 รายได้ 487,864,098 บาท ขาดทุน 1,300,900 บาท
- ปี 2566 รายได้ 1,704,697,783 บาท ขาดทุน 940,048,740 บาท
ปี 2566 มีสินทรัพย์รวม 812,469,865 บาท หนี้สินรวม 180,720,134 บาท
ขณะที่ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปี 2567 ตลาดรถยนต์ในไทยยังต้องเผชิญปัจจัยท้าทายด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ทำให้กลยุทธ์ลดราคาอาจทำได้เพียงพยุงตลาดให้ติดลบ 3% ปัจจัยมาจากยอดขายโดยรวมหดตัวลงอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคหันไปตามเทรนด์นั้นเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา
เมื่อเข้าสู่ปี 2567 เริ่มต้นด้วยบรรยากาศ "ตึงเครียด" ของตลาดรถยนต์ ค่ายรถต่างงัดกลยุทธ์ "ลดราคา" กระตุ้นยอดขายและชิงส่วนแบ่งตลาด ดุเดือดเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มรถที่ยอดขายหดตัวในปีที่แล้ว และกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า BEV ที่ต้องการขยายฐานลูกค้า แต่ทว่า กลยุทธ์ "ลดราคา" อาจไม่เพียงพอที่จะพลิกชะตาตลาดปีนี้ เพราะต้องเผชิญกับ "อุปสรรค" 2 ประการ
- ภาวะเศรษฐกิจ ยังไม่ฟื้นตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอ ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ส่งผลกระทบต่อ "กลุ่มรถราคาประหยัด" มากที่สุด
- การแข่งขัน ที่เข้มข้นขึ้น ทั้งจำนวนค่ายรถและรุ่นรถที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะค่ายรถจากจีนที่รุกตลาดรถยนต์นั่งอย่างรวดเร็ว นำเสนอรถ BEV ในราคาที่ดึงดูดใจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ปี 2567 ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยน่าจะอยู่ที่ 750,000 คัน หดตัว 3% จากปี 2566 สำหรับ รถยนต์นั่ง มีโอกาสขยายตัวเล็กน้อย 1% จากแรงกระตุ้นของราคาที่ปรับลดลง แต่หากแยกเฉพาะรถยนต์นั่งใช้น้ำมัน คาดว่าจะหดตัว 13% เพราะมีรถยนต์นั่ง BEV ที่ขยายตัว 63% มาชิงส่วนแบ่งตลาด ส่วนรถเพื่อการพาณิชย์ ส่วนใหญ่เป็นรถปิกอัพ คาดว่าจะหดตัว 8% เพราะมีการปรับลดราคาไม่มาก สำหรับปัจจัยอื่นๆ นอกจากราคาแล้ว ผู้บริโภคยังพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ในการตัดสินใจซื้อ เช่น ความน่าเชื่อถือ คุณภาพ หาอะไหล่ทดแทนง่าย และราคาขายต่อที่ดี