สภาพัฒน์ หั่น GDP ไทยทั้งปี 2567 เหลือ 2-3% หลังไตรมาสแรก โต 1.5%
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทยไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัว 1.5% ปัจจัยหลักมาจากการผลิตภาคนอกเกษตรขยายตัวจากบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการเกษตร ลดลง 3.5% และหมวดอุตสาหกรรมลดลง 3% ด้านการใช้จ่ายรัฐบาลลดลง 2.1% การลงทุนรวมลดลงต่อเนื่อง 4.2% ส่วนการส่งออกสินค้า-บริการ และการบริโภคอุปโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอลง เฉพาะปริมาณการส่งออกสินค้าลดลง 2%
สำหรับแนวโน้มทั้งปี 2567 สภาพัฒน์ ได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ราว 2.2-3.2% ลดลงเหลือ 2-3% (ค่ากลางการประมาณการ 2.5%) เป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัว 1.9% ในปี 2566
โดยคาดว่าจะมีการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 4.5% และ 3.2% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.1-1.1% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2% ของ GDP
สำหรับรายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2567 ในด้านต่างๆ มีดังนี้
1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยเป็นการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 4.5% ต่อเนื่องจากการขยายตัวในเกณฑ์สูง 7.1% ในปี 2566 ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัว 1.7% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 4.6% ในปี 2566 และเป็นการปรับเพิ่มจากการเพิ่มขึ้น 1.5% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามเม็ดเงินการใช้จ่ายภาครัฐภายหลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2567 ที่มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2567 และการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568
2. การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัว 1.9% เร่งขึ้นจาก 1.2% ในปี 2566 โดยการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3.2% เท่ากับในปี 2566 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของมูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนและออกบัตรส่งเสริมการลงทุน แต่เป็นการปรับลดจาก 3.5% ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้และการปรับลดประมาณการการขยายตัวของปริมาณการส่งออก ส่วนการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะลดลง 1.8% เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเป็นการลดลงต่อเนื่องจาก 4.6% ในปี 2566 โดยเป็นผลมาจากความล่าช้าของกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และกรอบวงเงินงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ลดลงจากปีก่อนหน้า
3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ คาดว่าจะขยายตัว 2% เทียบกับการลดลง 1.7% ในปี 2566 และปรับลดลงจาก 2.9% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยคาดว่า ปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น 1.5% ปรับลดลงจาก 2.4% ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับตัวลดลงของปริมาณการส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2567 และการปรับลดสมมุติฐานการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกจาก 3% ในการประมาณการครั้งก่อน เป็น 2.8% ในการประมาณการครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 7% เร่งขี้นจาก 2.1% ในปี 2566 แต่ต่ำกว่าการขยายตัว 5% ในการประมาณการครั้งก่อน