ครม. ขยายเพดานเว้นภาษี ค่าชดเชยถูกเลิกจ้างเป็น 400 วัน

ครม. ขยายเพดานเว้นภาษี ค่าชดเชยถูกเลิกจ้างเป็น 400 วัน

ครม. ขยายเพดานเว้นภาษี ค่าชดเชยถูกเลิกจ้างเป็น 400 วัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. …) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง)

โดยร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้าง กรณีถูกเลิกจ้าง ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 โดยปรับเพิ่มเพดานของค่าชดเชย กรณีถูกเลิกจ้างที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง หรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท มาเป็น ค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง หรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 600,000 บาท สำหรับเงินค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

นางรัดเกล้า กล่าวว่า เงินชดเชยนี้ จะไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณ หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เพราะวัตถุประสงค์คือเพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ลูกจ้างหรือพนักงาน สำหรับค่าชดเชยที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างกรณีที่ถูกเลิกจ้าง เช่น เหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เป็นต้น และเพื่อให้การคุ้มครองแรงงานมีความสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ อัตรเงินเฟ้อ และดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ประมาณการว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละประมาณ 660 ล้านบาท แต่จะส่งผลให้ลูกจ้างและพนักงานที่เดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้าง ได้รับการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างที่ได้รับจากนายจ้าง ซึ่งกรมสรรพากร อาจต้องมีการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ได้รับในปีภาษี 2566 ที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีในปี 2567

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook