คลัง คาดเก็บภาษีสินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บาท หนุนรายได้เพิ่ม 700 ล้านบาท

คลัง คาดเก็บภาษีสินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บาท หนุนรายได้เพิ่ม 700 ล้านบาท

คลัง คาดเก็บภาษีสินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บาท หนุนรายได้เพิ่ม 700 ล้านบาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การออกประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% กับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทนั้น เป็นนโยบายที่ต้องการสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศ และต่างประเทศ โดยเป็นนโยบายที่ไม่ได้เน้นเรื่องรายได้เป็นสำคัญ

“เราเสียเปรียบสินค้าจีนในเรื่องต้นทุนการผลิตอยู่แล้ว จึงไม่อยากให้ gap กว้างมาก ดังนั้น ถ้าเขาได้เปรียบจาก VAT 7% ไปอีก จะเป็นแต้มต่อที่สูงเกินไป นโยบายนี้ เราอยากเห็นการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริการการจัดเก็บภาษี กรมศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. – 31 ธ.ค.67 ในระหว่างที่รอกรมสรรพากรแก้กฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในช่วงต้นปี 68 เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ในระยะยาว โดยคาดว่าในช่วง 4-5 เดือนนี้ กรมฯ จะสามารถจัดเก็บรายได้จากมาตรการดังกล่าวราว 700 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดนในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66-พ.ค.67) พบว่า มีปริมาณนำเข้าสินค้าดังกล่าว ราว 89 ล้านชิ้น คิดเป็นมูลค่าราว 2.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 30-40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหากมีการจัดเก็บภาษี VAT กับสินค้าดังกล่าว รัฐจะมีรายได้เพิ่ม 1,800 ล้านบาท และคาดว่าทั้งปีงบประมาณ 2567 สินค้ากลุ่มนี้จะมีมูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นหากคิดเป็นการจัดเก็บภาษีตลอดทั้งปี น่าจะอยู่ที่ราว 2,100 ล้านบาท

“สิ่งที่ได้จากมาตรการนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความเป็นธรรม ระหว่างสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ และสินค้าในประเทศด้วย” โฆษกกรมศุลกากร กล่าว

พร้อมระบุว่า ขณะนี้ กรมศุลกากรอยู่ระหว่างการประชุมเพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ในด่านหลักทั่วประเทศ เพื่อรองรับการดำเนินการตามประกาศที่จะเริ่มให้มีการจัดเก็บภาษี VAT สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.นี้เป็นต้นไป โดยพบว่าปัจจุบันด่านศุลกากรที่มีสินค้าต่ำกว่า 1,500 บาทเข้ามาค่อนข้างมาก ได้แก่ ด่านมุกดาหาร และด่านนครพนม เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางบกจากตอนใต้ของจีน ผ่านเวียดนาม ลาว และเข้าสู่ประเทศไทยทางนี้ เพราะมีความสะดวก และมีค่าขนส่งที่ถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับการขนส่งทางอากาศไปที่ด่านสุวรรณภูมิ

“ตั้งแต่ 5 ก.ค. ถ้าคนที่รอรับของที่บ้าน หากเป็นสินค้าที่นำเข้าทางมุกดาหาร นครพนม สุวรรณภูมิ จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะผู้ประกอบการขนส่งจะเป็นผู้จ่าย VAT ให้กับผู้บริโภค แต่ส่วนที่มีการนำเข้าจากไปรษณีย์ ซึ่งเชื่อว่ามีปริมาณที่น้อย ถ้าสินค้าเกิน 1,500 บาท ต้องจ่าย VAT ก็จะมีใบสั่งเก็บจากศุลกากรติดไปที่หน้ากล่อง แล้วให้ท่านสแกนจ่าย VAT แล้วจึงจะนำส่งสินค้า แต่ถ้าไม่สามารถนำจ่ายได้ ของก็จะถูกนำกลับไปไว้ที่ไปรษณีย์ และต้องไปรับที่ไปรษณีย์” โฆษกกรมศุลกากร กล่าว

พร้อมเตือนประชาชนให้ระวังการจัดส่งสินค้าจากทางไปรษณีย์แล้วถูกแอบอ้างว่าต้องจ่าย VAT 7% โดยยืนยันว่า ถ้าจะมีการเรียกเก็บจริง ต้องมีใบสั่งเก็บจากกรมศุลกากรติดไว้อย่างชัดเจน แต่หากเป็นการจัดส่งโดยแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ นั้น ภาษี VAT ได้ถูกรวมไว้กับราคาสินค้าที่ประชาชนได้จ่ายให้กับแพลตฟอร์มไปแล้ว

“กรณีอ้างว่ามาส่งสินค้า แล้วจะเก็บ VAT 7% นี่คือจะไม่มี ของรับที่บ้านเหมือนเดิม ไม่มีการแอบอ้าง เพราะถ้าจะมีการเก็บ VAT จริง ต้องมีใบสั่งเก็บจากกรมศุลกากรอย่างชัดเจนในการจ่าย VAT แต่ถ้ามาตามแพลตฟอร์ม คือ ได้รวมในราคาที่ท่านได้จ่ายกับแพลตฟอร์มไปแล้ว” นายพันธ์ทอง กล่าว


ด้านนายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี กรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ กรมสรรพากร จะหารือกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกี่ยวกับรายละเอียดในการจัดเก็บภาษี VAT กับสินค้านำเข้าที่มูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท

โดยระหว่างนี้ กรมฯ จะเร่งแก้กฎหมายประมวลรัษฎากร เพื่อให้อำนาจกรมสรรพากรสามารถดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง โดยปรับขั้นตอนให้แพลตฟอร์มเป็นผู้จัดเก็บภาษีในส่วนนี้ และนำส่งให้กับกรมสรรพากรโดยตรง ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีได้ตั้งแต่ต้นปี 68

“ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากแพลตฟอร์ม ทั้งแพลตฟอร์มในประเทศ และแพลตฟอร์มต่างประเทศ คิดว่าจะดำเนินการตามนโยบายให้เร็วที่สุด แต่ปลายทางจะมีการออกกฎหมายระดับ พ.ร.บ. มีการแก้ไขประมวลรัษฎากร การดำเนินการของแพลตฟอร์มต้องทำความเข้าใจตกลงกัน แม้จะเป็นเรื่องที่ทำมาหลายประเทศ แต่ต้องเตียมการเชิงระบบ เราจะทำให้เร็วที่สุด ทั้งขั้นตอนทางเทคนิค และกฎหมาย” โฆษกกรมสรรพากร ระบุ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook